นายสามารถ ผ่องศรี ศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว และนางสาวพิมสาย จึงตระกูล รองศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยนางธิติมา โฮมแพน ผู้อำนวยการกลุ่มลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน พร้อมด้วยศึกษานิเทศก์ในสังกัด เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใต้โครงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ 2562 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีท ระยอง ซิตี้เซ็นเตอร์ จังหวัดระยอง โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติมาเป็นประธานการประชุมฯ และมีนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้กล่าวรายงาน
โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2568
โดยวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 / นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างการรับรู้และกำหนดกรอบทิศทางในการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใต้โครงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ระหว่างวันที่ 11 – 13 พฤษภาคม 2568 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีท ระยอง ซิตี้ เซ็นเตอร์ จังหวัดระยอง
โดยมีนางสาวสลารีวรรณ ทัพทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางวันเพ็ญ บุรีสูงเนิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาการในตำแหน่งศึกษาธิการภาค 8 ครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมให้การต้อนรับ
รมช.ศธ. กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างการรับรู้และกำหนดกรอบทิศทาง ในการดำเนินการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใต้โครงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวันนี้
จากคำกล่าวรายงานของปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในการกำหนดนโยบาย และแผนการดำเนินงานของพื้นที่ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการสร้างกลไก การจัดการศึกษาร่วมกัน ระหว่างภาครัฐองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้บรรลุเป้าหมาย ตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
การจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นรูปแบบหนึ่ง ที่นำมาใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยจัดการศึกษาให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้สถานศึกษานำร่อง ที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้ง 1,680 แห่ง มีอิสระในด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การบริหารจัดการสถานศึกษา มีความคล่องตัว สอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ อันจะนำไปสู่การยกระดับ การจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ สามารถเผชิญกับความท้าทาย กับโลกในยุคปัจจุบันและอนาคตได้
สำหรับ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 และจะถึงกำหนดในปี พ.ศ. 2569 เหลือระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ดังนั้น ผลการดำเนินงาน การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 20 จังหวัด รวมไปถึงผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นต่อผู้เรียน ครู สถานศึกษา และชุมชน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการพิจารณา ต่อ/ขยาย อายุของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของจังหวัดนำร่อง ทั้ง 20 จังหวัด นับว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและมีประโยชน์ ที่จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งผลการดำเนินงานที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีตลอดจนปัญหา อุปสรรค และวิธีการแก้ไข นอกจากนี้ กิจกรรมลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ของสถานศึกษานำร่อง ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ข้อมูลในเชิงประจักษ์ จากสถานที่และวิธีการปฏิบัติจริง จะเป็นประโยชน์และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่จังหวัดของตนเองต่อไป
รุ่งตะวัน / ภาพข่าว , เศกสรร / โพสต์