กระทรวงศึกษาธิการ ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 ณ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร (พระอารามหลวง) จ.เชียงใหม่ ยอดเงินถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน 2.6 ล้านบาท
จังหวัดเชียงใหม่ 10 พฤศจิกายน 2566 / พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำไปถวายพระภิกษุสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส (พักอยู่กับที่ในฤดูฝนตลอดเวลาสามเดือน) ณ วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร (พระอารามหลวง) ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี
โอกาสนี้ รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ., ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ., รองปลัด ศธ., ผู้ตรวจราชการ ศธ., ศึกษาธิการภาค, ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งคณะผู้บริหาร ข้าราชการ บุคลากรทางการศึกษา ศธ. และประชาชน เข้าร่วมในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และปวารณาถวายจตุปัจจัย เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ในการนี้ รมว.ศธ. และคณะผู้บริหารระดับสูง ศธ. ได้มอบทุนการศึกษาแก่โรงเรียนพระปริยัติธรรม (สามัคคีวิทยาทาน), โรงเรียนเมตตาศึกษา, โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และโรงเรียนสันกำแพง สถานศึกษาละ 10,000 บาท รวม 40,000 บาท และมีผู้มีจิตกุศลร่วมถวายจตุปัจจัย บำรุงและบูรณะพระอาราม ทำบุญกฐินพระราชทาน ประจำปี 2566 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,594,694.23 บาท (ณ เวลา 9.19 น.)
วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองฯ กลางใจเมืองเชียงใหม่ แต่เดิมชื่อ “วัดโชติการามวิหาร” แปลว่าพระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากในภาษาเหนือหรือคำเมือง “หลวง”แปลว่า “ใหญ่” หมายถึง พระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ สูงประมาณ 80 เมตร เมตร ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร ถือเป็นพระธาตุที่มีความสำคัญที่สุดของเมืองเชียงใหม่และมีความสูงที่สุดในภาคเหนือ
สันนิษฐานว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ในรัชสมัยพญาแสนเมืองมา พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งราชวงศ์มังราย ในอดีตมีการยกฉัตรยอดมหาเจดีย์ปิดด้วยทองคำ พร้อมนำแก้ว 3 ลูก ใส่ยอดมหาเจดีย์ ประดับด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งในโขงทั้ง 4 ด้าน มีรูป พญานาคปั้นเต็มตัว 8 ตัว ตัวละ 5 หัว อยู่ใน 2 ข้างบันได พร้อมรูปปั้นราชสีห์ 4 ตัว ตามมุมมหาเจดีย์ มีรูปปั้นช้างค้ำรายล้อม 28 เชือก แต่ปัจจุบันคงเหลือสภาพเพียงครึ่งองค์ เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในสมัยมหาเทวีจิรประภา รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย ประมาณ พ.ศ. 2088 ทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา โดยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535 โดยบริเวณวัดมีสิ่งสักการะหลากหลายได้แก่ เจดีย์หลวง อินทขีล ต้นยาง กุมภัณฑ์ พระฤๅษี ซึ่งสะท้อนพัฒนาการคติจักรวาลได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่แวดล้อมของเมือง
กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สป. / ข่าว