ศธ.ประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้ และชี้แจงแนวทางการประเมินสถานศึกษาพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

11 กรกฎาคม 2566 / ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ ดร.ปรัชญวรรณ วนานันท์ นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการศึกษา สป.ศธ. เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และชี้แจงแนวทางการประเมินสถานศึกษาพอเพียง ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการขับเคลื่อนงานด้านสถานศึกษาพอเพียงและศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีผู้บริหาร ศธ. ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ปฏิบัติงานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา เข้าร่วม ณ โรงแรมเดอะพาลาสโซ่ รัชดา กรุงเทพฯ

ดร.ปรัชญวรรณ วนานันท์ กล่าวว่า “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด มาจนถึงปัจจุบัน เป็นหลักการสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคม สามารถน้อมนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตและการประกอบกิจการงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี เพื่อความเจริญงอกงาม มุ่งสู่ความมั่นคงในการดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืน

ทุกรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการรู้จักพอประมาณ การมีเหตุผล การมีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อป้องกันความเสี่ยง ตลอดจนดำเนินการต่าง ๆ อย่างมีคุณธรรมอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อให้ทุกส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เล็งเห็นความสําคัญในการน้อมนําแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นส่วนช่วยส่งเสริม สนับสนุน สร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งปลูกฝังให้กับเด็กนักเรียน นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใน ศธ.มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีนโยบายที่จะเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยอัญเชิญมาใช้เป็นหลักในการพัฒนาคนให้มีคุณภาพสามารถพึ่งตนเองได้อย่างพอมีพอกิน พอมี พอใช้ ด้วยหลักความพอประมาณ มีเหตุผลและคุณธรรม เป็นกรอบดํารงชีวิตในการเป็นพลเมืองดี เป็นทรัพยากรบุคคลที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21

“ศธ.และคณะทํางานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา โดย รมว.ศธ.เป็นประธาน ได้ร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้สามารถนําไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม พร้อมปลูกฝังปรับเปลี่ยนทฤษฎีที่มีการพัฒนาแนวคิดด้านการบริหารจัดการในการดํารงชีวิตให้อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการกําหนดนโยบายด้านการศึกษาโดยนําปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ใช้คุณธรรมเป็นพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา-ครอบครัว-ศาสนา และชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ทักษะ และเจตคติ (ความรู้สึกหรือท่าทีของบุคคลที่มีต่อบุคคล วัตถุสิ่งของ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ) จนสามารถนําไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจําวัน สร้างความมั่นคงให้ตนเองอย่างยั่งยืนในโลกปัจจุบันที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของ Digital Disruption สังคมสูงวัยและโลกอุบัติภัยใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น”

สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 12 กรกฎาคม 2566 เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานส่วนกลาง ส่วนกลางในภูมิภาค ส่วนราชการรวมทั้งภาคีเครือข่าย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินสถานศึกษาพอเพียงและศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจ พอเพียงด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565) อีกทั้งทบทวนแนวทางกระบวนการขับเคลื่อนการดําเนินงานฯ ที่ผ่านมา เพื่อจัดทําเป็นข้อเสนอเพื่อการพัฒนาการขับเคลื่อนงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของกระทรวงศึกษาธิการ

โดยมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานสถานศึกษาพอเพียงและศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาระดับกระทรวง (4 องค์กรหลัก : สป.ศธ.ส่วนกลาง/สพฐ./สอศ./สกศ. และ สกร./สช.), ระดับภาค (สํานักงานศึกษาธิการภาค), ระดับจังหวัด (สํานักงานศึกษาธิการจังหวัด) และหน่วยงานภายนอก อาทิ กองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดน, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, สํานักการศึกษา กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ปัญญา แก้วกียูร ผู้ทรงคุณวุฒิหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา อดีตผู้ตรวจราชการ ศธ. เป็นหัวหน้าทีมวิทยากรบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ อาทิ ทบทวนเส้นทางการขับเคลื่อนงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา, แนวทางและหลักเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาพอเพียงฯ เป็นต้น

 

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย/ ภาพ