6 มีนาคม 2568 – พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล การจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 1/2568 โดยมี โดยมี นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ E-MEETING
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เผยว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ปรับปรุงระเบียบให้มีความทันสมัย นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานให้เกิดความรวดเร็วเป็นไปอย่างประสิทธิภาพมากขึ้น และขอเน้นย้ำการทำงานให้เป็นในรูปแบบเชิงบูรณาการ เชื่อมโยงให้เข้ากับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล
โดยที่ประชุมมีมติที่สำคัญ ดังนี้
เห็นชอบ ข้อเสนอในการปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2560
เพื่อพัฒนาระบบการตรวจราชการฯ ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์การจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป และเกิดประโยชน์ต่อภาพรวมการพัฒนาการศึกษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมอบหมายให้ นายกิตติรัตน์ มังคละคิรี ผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะทำงานปรับแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2560
รับทราบ รายงานผลการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2567 ดังนี้
นโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ
- พัฒนาวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา มุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
- การพัฒนาหลักเกณฑ์ วิธีการแต่งตั้ง โอนย้ายของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในภูมิลำเนาที่ตรงกับความประสงค์ของตนเอง เน้นพิจารณาด้วยความโปร่งใสและไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน
- การแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
- จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม
นโยบายลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง
- เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนดี มีงานทำ “ยึดผู้เรียน เป็นศูนย์กลาง” มีระบบ/แพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
- การจัดให้มีโรงเรียนคุณภาพ 1 โรงเรียนต่อ 1 อำเภอ
- พัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม
- การจัดทำระบบวัดผลรองรับมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate) ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่มเพื่อรับประกาศนียบัตรในการประกอบอาชีพ
- การจัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษา และประเมินผลการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ ไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย
- ผู้เรียน เรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to earn)
นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติให้ชะลอ ประเด็นสืบเนื่องเพื่อพิจารณา (ร่าง) มาตราฐานการตรวจราชการและติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ คงใช้มาตราฐานเดิมไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของกระบวนการทำงาน ไม่สร้างงานเพิ่ม สอดรับกับนโยบาย “ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา”
ธรรมนารี ชดช้อย / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ