ในวันที่ 31 มีนาคม-25 เมษายน 2568 – นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ไปอบรมพัฒนาทักษะสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 ของผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร หลักสูตร “Senior Executive Fellows” ซึ่งจัดอบรมโดย Harvard Kennedy School มหาวิทยาลัย Harvard ประเทศสหรัฐอเมริกา
รองปลัด ศธ. พิเชฐ กล่าวว่า หลักสูตรที่เข้ารับการอบรมมีกรอบแนวคิดในการพัฒนาภาวะผู้นำและการนำความรู้ประสบการณ์ไปใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เน้นประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ โดยได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ ในระหว่างที่มีการอบรมในชั้นเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกห้องเรียนกับอาจารย์และเพื่อนนักศึกษาต่างชาติ นำเสนอบทบาทของกระทรวงศึกษาธิการภายใต้การนำของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” รวมทั้งกล่าวถึงจุดแข็งและประเด็นท้าทายต่างๆ ในการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ได้แก่ การพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา การพัฒนาการเรียนการสอนแบบ Active Learning การสอบ PISA การยกระดับภาษาอังกฤษ และการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนการระดมความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนมาช่วยพัฒนาการศึกษา ซึ่งในแต่ละด้านมีความก้าวหน้ามาตามลำดับ
ทั้งนี้ การอบรมตามหลักสูตร Senior Executive Fellows ของมหาวิทยาลัย Harvard มีรายละเอียด ดังนี้
1. ผู้เข้าอบรม จำนวน 43 คน แบ่งเป็นข้าราชการและเอกชนที่มาจากรัฐต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา และคัดเลือกตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการอบรมด้วย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้ และมีตัวแทนจากประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมการอบรม ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย ซาอุดิอาระเบีย และไนจีเรีย
2. รูปแบบการอบรม จะเน้นกระบวนการกลุ่ม ทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ รวมทั้งมีการบรรยายประกอบกรณีศึกษาโดยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยและวิทยากรพิเศษ ในแต่ละวันจะมีงานเดี่ยว งานกลุ่มที่ต้องนำเสนออย่างต่อเนื่อง โดยผู้เข้าอบรมจะได้รับใบงานและเอกสารทุกวิชาเพื่ออ่านเตรียมตัวก่อนมาเข้าอบรมในแต่ละรายวิชา การอบรมจะเน้นเรียนรู้จากกรณีศึกษาเป็นหลัก เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าผู้เข้าอบรมที่เป็นคนอเมริกันทั้งภาครัฐและเอกชน มีความกระตือรือร้นในการร่วมเสนอความคิดเห็นเชิงวิเคราะห์ในที่ประชุมเป็นอย่างดีมาก ทุกคนจะยกมือให้อาจารย์เห็นและมีส่วนร่วมแสดงความเห็นตลอดเวลา ส่วนนักศึกษาต่างชาติก็ได้รับโอกาสเสนอความเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีอาจารย์เป็นผู้อำนวยการ เชื่อมโยงความรู้ ความคิดเห็น กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ทำให้ห้องเรียนมีชีวิตชีวา ผู้เข้าอบรมจะมีโอกาสได้อยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาการอบรม เหมือนเข้าค่ายวิชาการ ต้องพักที่เดียวกัน ทานข้าวพร้อมกันตั้งแต่เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป จากนั้นเวลา 08.00 น.ก็จะประชุมกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เข้าอบรม ก่อนที่จะไปเข้าห้องเรียนรวมร่วมกับอาจารย์และเพื่อน ๆ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลา 17.30 น.ในแต่ละวัน ทั้งนี้หลังจากเลิกอบรมในแต่ละวัน ผู้เข้าอบรมรับประทานอาหารเย็นร่วมกันเกือบทุกวัน ซึ่งทุกคนมีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดวันโดยพร้อมเพรียงกัน
3. วิชาที่อบรม การอบรมจะแบ่งเป็นวิชาละ 1 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งรายวิชาที่อบรมมีอย่างหลากหลาย ได้แก่ ผู้นำอย่างแท้จริง,ภาวะผู้นำและการบริหารงานในภาวะวิกฤติ การบริหารการเมือง การพัฒนานโยบาย, ผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ, การตัดสินใจในท่ามกลางความขัดแย้ง, สถานการณ์ระหว่างอเมริกาและจีน, การเมืองในสหรัฐอเมริกา, การบริหารจัดการข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยี, สถานการณ์ในตะวันออกกลาง, การบริหารภาพลักษณ์องค์กร, การเจรจาต่อรอง, การสร้างแรงจูงใจ, การใช้ AI พัฒนางาน
4. อาจารย์ผู้สอนและวิทยากร Harvard Kennedy School เปรียบเสมือนคณะในสังกัด มหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งมีอาจารย์ผู้สอนที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก มีประสบการณ์ในการสอน การวิจัย การเขียนตำราวิชาการ ซึ่งมีการอ้างอิงในระดับนานาชาติ และประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศอย่างหลากหลาย ทำให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง ได้แก่
- Nathalie Laidler-Kylander ประธานหลักสูตร จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Harvard และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัย Tuffs มีประสบการณ์ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเคยดำรงตำแหน่งที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติในประเทศเซเนกัล องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน ในอาร์เมเนีย รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารอีกหลายแห่ง
- Hannah Riley Bowles อาจารย์อาวุโสด้านนโยบายสาธารณะและการจัดการ มีประสบการณ์ในการทำงานให้กับรัฐบาลของอาร์เจนตินา คอสตาริกา และเยอรมนี
- Edward Cunningham ผู้อำนวยการโครงการ Ash Center China มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านประเทศจีนเป็นพิเศษ สามารถพูดภาษาจีนและภาษาอิตาลี ได้อย่างคล่องแคล่ว จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Harvard และ MIT
- Edward Djerejian ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางเป็นพิเศษ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำอิสราเอล และซีเรีย
- Anthony Foxx สอนเรื่องนโยบายสาธารณะ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกา
- John Tien เคยทำงานในกองทัพบก เคยดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เคยทำงานที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ และเคยเป็นผู้บริหาร Citigroup
- Nancy Gibbs มีประสบการณ์เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Time ที่มีผู้อ่านกว่า 65 ล้านคนทั่วโลก เคยสัมภาษณ์ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จำนวน 5 คน และสัมภาษณ์ผู้นำหลายประเทศ
- Joseph S. Nye Jr. จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมฝ่ายกิจการความมั่นคงระหว่างประเทศ ประธานสภาข่าวกรองแห่งชาติ
- Roger B. Porter เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีด้านนโยบายเศรษฐกิจและในประเทศและเคยทำงานในทำเนียบขาวสมัยประธานาธิบดีเรแกน และประธานาธิบดีฟอร์ด
นอกจากนี้มหาวิทยาลัย Harvard ยังจัดประชุมวิชาการทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายน 2568 ได้เชิญอดีตประธานาธิบดีไบเดน มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเมือง และเชิญอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายทิศทางของกระทรวงศึกษาธิการและการจัดการศึกษาของอเมริกาด้วย ดังนั้นบรรยากาศการจัดกิจกรรมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยจึงเป็นได้ด้วยความต่อเนื่องและจริงจัง
มหาวิทยาลัย Harvard นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งมาเป็นเวลาเกือบ 389 ปี โดยในส่วนของ Harvard Kennedy School ก่อตั้งมาเป็นเวลา 95 ปี มหาวิทยาลัยได้ผลิตบัณฑิตในสาขาต่าง ๆ จากทั่วโลกเป็นจำนวนมาก โดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียงที่จบจาก Harvard ได้แก่ อดีตประธานาธิบดี John F. Kennedy และ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ก็เข้าศึกษาที่นี่ด้วย แต่ขณะที่ศึกษาที่นี่ ได้ร่วมกับเพื่อนก่อตั้ง Facebook ขึ้น และออกไปทำธุรกิจอย่างเต็มตัวก่อนที่จะจบการศึกษา