รองปลัด ศธ. “พิเชฐ” ผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ SEAMEO INNOTECH ครั้งที่ 67 ที่กัมพูชา

รองปลัด ศธ. “พิเชฐ โพธิ์ภักดี” เป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารของศูนย์ SEAMEO INNOTECH ครั้งที่ 67 ณ เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา นำเสนอแนวทางจัดการศึกษาของ ศธ. ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุขของผู้เรียน (Happy Learning)”

นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนไทยและเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการบริหารของศูนย์ SEAMEO INNOTECH (ซีมีโอ อินโนเทค) ครั้งที่ 67 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Educational Innovation and Technology: SEAMEO INNOTECH ด้วยความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬา ประเทศกัมพูชา ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2566 ณ เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ได้มีพิธีเปิดการประชุมฯ โดย H.E. Om Romny รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการฯ กัมพูชา Datuk Dr. Habibah Abdul Rahim ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการซีมีโอ และ Dr. Leonor Magtolis Briones ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO INNOTECH ร่วมเป็นผู้แทนกล่าวเปิดการประชุมฯ และต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จากประเทศสมาชิก

โดยการประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะผู้แทนในฐานะคณะกรรมการบริหารของศูนย์ฯ จากประเทศสมาชิกซีมีโอ จำนวน 11 ประเทศ ได้รับทราบผลความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมที่ผ่านมาของศูนย์ฯ รวมถึงร่วมกันพิจารณาให้การรับรองแผนงานและงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ฯ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอและที่ประชุมสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อทราบและให้การอนุมัติตามลำดับ

ซึ่งการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ได้มีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและหมุนเวียนประเทศสมาชิกซีมีโอ ในการรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ทั้งนี้ ภายหลังพิธีเปิดการประชุมฯ คณะกรรมการบริหารจากประเทศต่างๆ อาทิ กัมพูชา สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย ได้ร่วมกล่าวถึงนโยบายการดำเนินงานด้านการพัฒนาการศึกษาของแต่ละประเทศในปัจจุบัน ต่อด้วยการรายงานผลการดำเนินการของศูนย์ซีมีโออินโนเทค

โอกาสนี้ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้แทนไทย ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการจัดเตรียมการศึกษาที่มีคุณภาพ การมุ่งส่งเสริมนวัตกรรมและขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา ครู ผู้ปกครอง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนามาตรฐานการศึกษาในทุกระดับ อีกทั้งการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่​​บูรณาการด้านการใช้เทคโนโลยีอย่างเข้มข้น รวมทั้งพัฒนาแนวทางการสอนของครูที่สร้างสรรค์เพื่อเตรียมนักเรียนและพลเมืองให้มีพร้อมต่อความท้าทายในอนาคต ในขณะเดียวกัน ก็ยังมุ่งเน้นความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

นอกจากนี้ ในช่วงของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Management) ภายใต้หัวข้อ “Education Transformation: Voices of the Youth” ผู้แทนไทยได้นำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้เน้นย้ำความสำคัญตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข ของผู้เรียน (Happy Learning)” รวมถึงผลักดันการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีความครอบคลุมและแพร่หลายในสถานศึกษา อีกทั้งเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime)

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครู ส่งเสริมสวัสดิการเพื่อให้ขวัญและกำลังใจกับครู ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา มีเป้าหมายที่จะพัฒนาโรงเรียนคุณภาพเพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนภายใต้แนวทาง “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” ตลอดจนการให้ความสำคัญและการเปิดโอกาสรับฟังเสียงจากเยาวชน รวมถึงการมีส่วนร่วมทั้งในด้านการศึกษาและเวทีต่างๆ ในสังคม

ทั้งนี้ นอกจากการพัฒนาการศึกษาในประเทศแล้ว กระทรวงศึกษาธิการยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี ส่งเสริมการวิจัย และปรับปรุงผลลัพธ์ทางการศึกษาเพื่อร่วมกันสร้างอนาคตและเสริมพลังให้กับคนรุ่นต่อไป อีกทั้งพร้อมเดินหน้าร่วมมือกับศูนย์ SAMEO INNOTECH และประเทศสมาชิกในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาในภูมิภาคให้เข้มแข็งและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง