30 มิถุนายน 2568 / มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา แถลงข่าว “เปิดตัวครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย และครูรางวัลคุณากร ประจำปี 2568” ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.พัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา ตลอดจนผู้แทนกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกรุงเทพมหานคร เข้าร่วม
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กล่าวแสดงความยินดีกับครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 6 ประจำปี 2568 ของประเทศไทย คือ ครูไพรวัลย์ ยาปัญ โรงเรียนบ้านกองม่องทะ (สาขาบ้านไล่โว่) อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และครูรางวัลคุณากร ได้แก่ ครูไพลรัตน์ สำลี วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และครูทอน บัวเรือง โรงเรียนบ้านดงน้ำเดื่อ จ.เพชรบูรณ์
การดำเนินงานคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2568 รวมทั้งสิ้น 6 รุ่น ปัจจุบันมีครูผู้ได้รับรางวัลแล้วรวมทั้งสิ้น 69 คน จาก 14 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติมอร์-เลสเต ในประเทศไทย มีการดำเนินงานได้รับพระกรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง และได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากภาคส่วนสำคัญ อาทิ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานครและอีก 6 องค์กรที่มีรางวัลระดับประเทศ รวมถึงคณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมและการขับเคลื่อนที่สำคัญ
ความมุ่งหมายคืออยากให้ครูไทยได้เรียนรู้ทั้งจากพื้นที่ของตนเองและจากต่างประเทศ เพราะเราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงการศึกษาจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ต้องมาจาก “ภายใน” เปรียบเสมือน “การระเบิดจากข้างใน” ที่ไม่ใช่เพียงการถ่ายทอดนโยบายจากภายในเท่านั้น หลายประเทศมีประสบการณ์การพัฒนาการศึกษาในบริบทที่หลากหลาย ทั้งพื้นที่ห่างไกล พื้นที่สูง หรือแม้แต่ในเขตเมือง เช่น ติมอร์-เลสเต กัมพูชา ลาว ออสเตรเลีย และประเทศที่มีความก้าวหน้าอย่างสิงคโปร์ หรือบางพื้นที่ของเวียดนาม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบทเรียนที่เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทประเทศไทยได้
ที่มาของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประเทศไทย เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ร่วมกันเสนอชื่อครูจากทั่วประเทศ เพื่อให้สังคมร่วมกันเห็นคุณค่าและยกย่องครูที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีคุณสมบัติสองประการสำคัญ คือ “สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตลูกศิษย์” และ “มีคุณูปการต่อวงการศึกษา” ของแต่ละจังหวัด เพื่อมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รางวัลคุณากร รางวัลครูยิ่งคุณ และรางวัลครูขวัญศิษย์
“ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันสนับสนุนการขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศไทย และในวันนี้ เรามีครูที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รวมทั้งครูรางวัลคุณากร 1,035 คน ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการยกย่องเชิดชูครูที่ทุ่มเทเพื่ออนาคตของประเทศ ขอให้ทุกฝ่ายมีพลังใจที่เข้มแข็งร่วมกันผลักดันภารกิจนี้ต่อไป เพื่ออนาคตของการศึกษาไทยที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”
ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี กล่าวว่า การยกย่องเชิดชูเกียรติครูต้นแบบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และครูรางวัลคุณากรในครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่ครูบาอาจารย์ทุกท่านทั่วประเทศ ผู้ซึ่งอุทิศตนด้วยความมุ่งมั่นและเสียสละ แม้บางท่านอาจไม่ได้มีความพร้อมทางทุนทรัพย์ แต่มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม ดังบทประพันธ์ที่ว่า “เกิดในที่ที่ดีนั้นดีแน่ เกิดในที่ที่แย่ก็ดีได้ เกิดที่ดีแล้วแย่มีถมไป เกิดที่ไหนก็ดีได้ ถ้าใฝ่ดี”
ครูที่ได้รับรางวัล คือผู้ที่ทำหน้าที่ครูและทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ ถ่ายทอดคุณค่าชีวิต และจุดประกายศักยภาพให้แก่ลูกศิษย์ เป็นแบบอย่างของผู้มีหัวใจในการรับใช้สังคม และมีจิตวิญญาณครูแท้อย่างแท้จริงดังคำประพันธ์ของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ที่ว่า “การเป็นครูนั้นไซร้ใช่ลำบาก แต่เป็นดีนั้นยากไปหนักหนา เพราะต้องใช้ศิลปวิทยา อีกมีความเมตตาในหัวใจ” สะท้อนความเป็นครูทั้ง 3 ท่านในวันนี้ได้อย่างชัดเจน พวกท่านเป็นผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม มีหัวใจแห่งการอุทิศตน และเป็นที่ประจักษ์ด้วยการได้รับคัดเลือกให้เป็นครูผู้ได้รับการยกย่องจากระดับชาติและนานาชาติ ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอชื่นชมและแสดงความยินดีอย่างยิ่ง
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งต่อพลังบวกและแนวคิดในการพัฒนาไปยังครูไทยทั่วประเทศ เราต้องร่วมกันคิดว่าจะขยายผลองค์ความรู้ แนวทางการสอน และคุณธรรมความดีของครูเหล่านี้ไปสู่ครูรุ่นใหม่ได้อย่างไร เพื่อสร้าง “เมล็ดพันธุ์แห่งความดี” ให้หยั่งรากในทุกภูมิภาค ตลอด 6 รุ่นที่ผ่านมา มีครูไทยที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่เครือข่ายรวมทั้งสิ้น 1,035 คน ซึ่งถือเป็น “Best of the Best” ของครูไทย และมี 69 คน ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจาก 14 ประเทศ เครือข่ายเหล่านี้คือพลังแห่งความดีงาม ที่ไม่เพียงได้รับการยกย่อง แต่ยังพร้อมจะส่งต่อพลังแห่งการเรียนรู้ไปยังลูกศิษย์ เด็กทุกคนที่เข้ามาเป็นลูกศิษย์ของครู ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือพื้นเพใด ล้วนมีคุณค่า และครูคือผู้ที่จะดูแลและพัฒนาให้เป็นคนดีของแผ่นดิน
“ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของเครือข่ายครู ผ่านระบบประชุมออนไลน์ การจัดทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกภูมิภาค เครือข่ายครูเหล่านี้จะกลายเป็นต้นแบบให้กับครูรุ่นใหม่ในการพัฒนาวิธีสอนที่หลากหลาย เข้าถึงผู้เรียน และพัฒนาเครือข่ายของความเป็นครูอย่างแท้จริง ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอคารวะครูบาอาจารย์ทุกท่าน ผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ขอให้คุณงามความดีของท่านเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ครูไทยทั้งประเทศ และสัญญาว่าจะร่วมกันเรียนรู้ สื่อสาร และขยายผลคุณงามความดีนี้ให้กว้างไกล เพื่ออนาคตของการศึกษาไทยต่อไป“
ครูไพรวัลย์ ยาปัญ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ปี 2568 กล่าวด้วยว่า แรงบันดาลใจในการเข้ามาทำหน้าที่เป็น “ครูอาสา” และร่วมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ โดยตั้งปณิธานว่าอยากพัฒนาเด็กในถิ่นทุรกันดาร จึงตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดที่ จ.นครพนม มาที่บ้านกองม่องทะ ซึ่งต้องเดินเท้าเข้าพื้นที่ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน ในขณะนั้นเพื่อเป็นครูอาสา เนื่องจากชาวบ้านเริ่มหมดศรัทธาต่อระบบการศึกษา ครูที่มาปฏิบัติงานมักอยู่ได้ไม่นาน โดยรับหน้าที่สอนทุกระดับชั้น ทุกกลุ่มสาระวิชา เป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่า 17 ปี จากการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อกคี่ จากโรงเรียนชั่วคราวให้เป็นโรงเรียนในสังกัดกองตำรวจตระเวนชายแดนอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้นั้น จึงนำมาพัฒนาห้องเรียนสาขาบ้านไล่โว่ เป็นโรงเรียนสาขาบ้านไล่โว่ ทำให้นักเรียนที่จบประถมศึกษาตอนปลายไม่ต้องกลับมาเรียนซ้ำ ซึ่งการปฏิบัติต่อลูกศิษย์ทุกคนอย่างสม่ำเสมอเท่าเทียม
นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการ “ขายข้ามเขาออนไลน์ By Kongmongta School” เพื่อส่งเสริมแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มนักเรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะด้านการสื่อสาร การตลาด และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับยุคสมัย และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกศิษย์ทุกคนมีโอกาสบรรลุเป้าหมายในชีวิต และเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป
“ครู” ผู้ได้รับรางวัลคุณากรประจำปี 2568
ครูไพรัตน์ สำลี ครูวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ครูนักประดิษฐ์นวัตกรรมพลังงานทดแทน รวมทั้งเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อผู้พิการ กล่าวว่า ตนเริ่มต้นชีวิตครูอัตราจ้างที่วิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งพนักงานราชการ ประเภทครูผู้สอน สังกัดวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย เป็นระยะเวลากว่า 26 ปี และอยากที่จะส่งต่อความรู้ ให้การช่วยเหลือลูกศิษย์ให้ได้รับโอกาสและพัฒนาตนเอง รวมถึงลูกศิษย์ที่ขาดโอกาสเป็นผู้พิการให้ได้รับการช่วยเหลือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมกับมีรายได้ เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย เพราะ “ลูกศิษย์คือเครือข่ายที่ดี ที่เอามันสมองของผมไปกระจายความรู้”
โดยเป็นผู้ที่มุ่งมั่นในการศึกษาค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อยู่เสมอ มีการเพิ่มทักษะให้กับตนเองและนำความรู้มาถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ อาทิ นวัตกรรมเครื่องมือกลคนพิการ วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยศีรษะ ซึ่งเป็นผลงานระดับชาติ ที่นำไปช่วยเหลือคนพิการ ผู้ทุพลภาพ รวมถึงนวัตกรรมสลายเรือนกระจก และสถานีชาร์จมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า ซึ่งผลงานได้รับรางวัลระดับนานาชาติ และอยากที่จะส่งต่อความรู้ ให้การช่วยเหลือลูกศิษย์ให้ได้รับโอกาสและพัฒนาตนเอง รวมถึงลูกศิษย์ที่ขาดโอกาสเป็นผู้พิการให้ได้รับการช่วยเหลือให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นพร้อมกับมีรายได้ เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย
ครูทอน บัวเรือง ครูโรงเรียนบ้านริมน้ำเดื่อ จ.เพชรบูรณ์ ครูผู้ไม่หยุดความเป็นครูแม้จะเลยวัยเกษียณ ยังคงถ่ายทอดความรู้จนลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ กล่าวว่า คุณภาพการสอนของครูสามารถเปลี่ยนชีวิตลูกศิษย์ได้ แม้ลูกศิษย์ที่เรียนรู้ช้าหรือมีข้อจำกัดทางทรัพยากรระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท ครูต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง พยายามเชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับชีวิตของนักเรียน ทำให้การเรียนมีความหมายและนำไปใช้ได้จริง โดยปรับวิธีการสอนอยู่เสมอ สังเกตการตอบสนองของนักเรียน วิเคราะห์ข้อดีข้อจำกัด และพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่หากครูมีใจรักและมุ่งมั่นพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง “ความสำเร็จของลูกศิษย์ คือ ดอกไม้ที่หอมหวานที่สุดในสวนแห่งชีวิตครู” และการศึกษาที่มีคุณภาพไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในเมือง ทุกพื้นที่ควรมีโอกาสเท่าเทียมกัน
ครูทอนมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอน โดยไม่หยุดการศึกษาค้นความ เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ครูในวงการการศึกษา มีการปรับวิธีการสอนตามการตอบสนองของนักเรียนการวิเคราะห์ข้อดี ข้อจำกัดและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานเด่นคือการทำให้ลูกศิษย์ได้คะแนน O-NET วิชาคณิตศาสตร์ได้ 100 คะแนนเต็ม ครูทอน เป็นผู้พิสูจน์ว่า “การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้ทุกที่หากครู มีใจรักและมุ่งมั่นพัฒนาไม่หยุดยั้ง”
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ