รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” นั่งหัวโต๊ะ ดึงจุดแข็งทุกหน่วยงานจัดการศึกษา ตั้งเป้ายกระดับผลประเมิน PISA 2025 ในทุกมิติ

16 กุมภาพันธ์ 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการ สกศ. นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายสง่า แต่เชื้อสาย ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ และระบบออนไลน์ Zoom Meeting

รมว.ศธ. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมฯ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอนั้น ได้มีการดำเนินงานและจัดประชุมหารือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและทิศทางการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาของประเทศ และสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาของประเทศในทุกภาคส่วนให้ประสานความร่วมมือกัน และได้จัดทำแผนการดำเนินงานระยะเวลา 4 ปี ของคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ โดยมีประเด็นสำคัญคือ การดำเนินการวิจัยของ PISA ร่วมกับ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ The Organization for Economic Cooperation and Development) และการดำเนินงานขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการนำผลการประเมิน PISA 2022 ไปปรับปรุงและยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สร้างความร่วมมือกับทุกสังกัดที่เข้าร่วมการประเมิน PISA 2025 เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2568

สำหรับรายงานการประเมิน PISA 2022 ผลการประเมินของประเทศไทย พบว่า นักเรียนไทยมีคะแนนเฉลี่ยของประเทศทั้งสามด้าน (คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน) ลดลง ในภาพรวมของผลการประเมิน PISA 2022 สะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาทั่วโลกมีคะแนนเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับ PISA 2018 ซึ่งเป็นผลกระทบจากที่ทุกประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายของการจัดการเรียนรู้ ในช่วงที่มีวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ดังนั้น จึงควรมีมาตรการในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ โดยการพัฒนาครูให้มีสมรรถนะในการจัดการเรียนการสอน เพื่อเสริมสร้างให้นักเรียนมีทักษะที่จำเป็นในการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริง ส่งเสริมและสนับสนุนทรัพยากรและสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้กับสถานศึกษาอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศให้มีคุณภาพและครอบคลุมทุกสังกัด

ในส่วนของตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกันในประเด็นการยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนตามมาตรฐานสากลนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการประเมิน ได้มีมติเห็นชอบประเด็นการจัดทำตัวชี้วัดขับเคลื่อนการบูรณาการร่วมกัน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ตามนโยบายสำคัญ โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ PISA คือ การยกระดับผลการประเมินสมรรถนะนักเรียน ตามมาตรฐานสากล (PISA) ด้วยเช่นเดียวกัน

ในการนี้มีหน่วยงานในสังกัดเสนอกลไก แนวทาง แผนการขับเคลื่อนในการยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 ดังนี้

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เสนอกลไกการขับเคลื่อนการยกระดับผลการสอบ PISA 2025 ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายและแผนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการวิเคราะห์และเปรียบเทียบสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทยในเวทีโลก เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน โดยมีมาตรการเพื่อยกระดับผลการทดสอบ PISA ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินงานต่อไป

ขณะที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้กำหนดตัวชี้วัดการประเมินประสิทธิผล การดำเนินงาน (Performance Based) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษา 3 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1) ระดับความสำเร็จในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันการพัฒนาทุนมนุษย์ด้านทักษะ แรงงานในอนาคต 2) ตัวชี้วัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการศึกษา และ 3) ตัวชี้วัดร้อยละของนักเรียนที่มีสมรรถนะจากการประเมินโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ไม่ถึงระดับพื้นฐานของทั้ง 3 วิชาในแต่ละกลุ่มโรงเรียน

โดยให้จัดทำแนวทางในการพัฒนาตัวชี้วัดทั้ง 3 ตัวชี้วัด ในรูปแบบของแผนระดับ 3 เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้การดำเนินการเป็นระบบและต่อเนื่อง มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน รวมทั้งเกิดการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สกศ. จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนระดับ 3 ด้าน การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยมีสาระสำคัญในการดำเนินงาน คือ กำหนดแนวทางในการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษา โดยใช้ดัชนีชี้วัดในระดับนานาชาติ อาทิ IMD WEF และ PISA เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก จัดทำเป็นแผนระดับ 3 เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการการทำงานอย่างต่อเนื่อง และกำหนดกรอบระยะเวลาของแผน มีกำหนดดำเนินการถึงปี พ.ศ. 2570 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยระยะเวลาในการดำเนินการจัดทำแผนระดับ 3 แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2567

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสร้างเครือข่าย ส่งเสริม ช่วยเหลือ บูรณาการการยกระดับผลการทดสอบ ด้วยการส่งเสริมเรียนการสอนที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับแนวทางการทดสอบ PISA ให้ครอบคลุมสถานศึกษาทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตลอดจนจัดทำแผนด้านการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยให้เทียบเท่าสากล และเสริมพลังการทำงานผ่านกรรมการสภาการศึกษา ซึ่งมี รมว.ศธ.เป็นประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษารวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกเป็นคณะกรรมการ เพื่อให้เกิดการบูรณาการและมีการกำกับติดตามความก้าวหน้าในการทำงานอยู่เสมอ

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เสนอแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA 2025 ซึ่งผลการประเมินปัจจุบัน PISA 2022 เน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ และมีการประเมินเพิ่มเติมด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) สำหรับในรอบการประเมินถัดไป คือ PISA 2025 จะเน้นการประเมินความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก และมีการประเมินเพิ่มเติมด้านการเรียนรู้ในโลกดิจิทัล (Learning in the Digital World) โดยได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมโดยการพัฒนาและเผยแพร่ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ของ สสวท. การพัฒนาหลักสูตรและอบรมครูในการใช้ระบบออนไลน์ข้อสอบ PISA ในสถานศึกษา

พร้อมร่วมมือกับสำนักบริหารงานความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ (สบว.) สพฐ. และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง ในการพัฒนาหลักสูตรและอบรมครูแบบ On-site เรื่องการสร้างข้อสอบตามแนวทาง PISA วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และสร้างวิทยากรแกนนำเพื่อไปขยายผลให้กับครูในโรงเรียนขยายโอกาส จัดทำชุดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสมรรถนะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยใช้ข้อสอบ PISA

ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานต้นสังกัดกำหนดเป็นนโยบายและติดตามให้ครูและผู้บริหารของโรงเรียนทุกสังกัด ที่ได้รับเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่างในการสอบทำความเข้าใจกับนักเรียนถึงความสำคัญ กระตุ้น จูงใจให้นักเรียนทำข้อสอบ PISA อย่างตั้งใจและเต็มกำลังความสามารถ

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอแผนการขับเคลื่อนในการยกระดับผลการทดสอบ PISA 2025 โดยกำหนดนโยบายและจุดเน้นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2568 ที่ส่งเสริมการอ่าน เพื่อเป็นวิถีในการค้นหาความรู้และต่อยอดองค์ความรู้ที่สูงขึ้น โดยส่งเสริมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาความสามารถด้านการอ่านตามแนวทางการประเมิน สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนานักเรียนสู่การเรียนการสอนในระยะสั้น พัฒนาสื่อนวัตกรรมเพื่อพัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือประเมินความฉลาดรู้ด้านการอ่านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทั้งในรูปแบบของ Paper-based testing และ Computer-based testing เพื่อใช้ในการพัฒนาความฉลาดรู้ของนักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาความฉลาดรู้ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และสร้างความคุ้นชินเกี่ยวกับข้อสอบ PISA ในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา

สำหรับแผนฯ ระยะยาวต้องพัฒนาความสามารถด้านการอ่านให้กับนักเรียนในทุกระดับชั้น ทั้งในกลุ่มโรงเรียนประถมศึกษา กลุ่มโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา และกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการฝึกฝนสมรรถนะด้านการอ่านเชิงคิดวิเคราะห์ โดยใช้เนื้อหาที่อ่านให้มีความหลากหลายและซับซ้อนตามช่วงวัย และระดับการศึกษาของผู้เรียน พัฒนาสื่อนวัตกรรมในการพัฒนาความฉลาดรู้ตามแนว PISA ด้วยชุดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ แบบฝึกทักษะ และแบบทดสอบความฉลาดรู้ตามแนวทางการประเมิน PISA ให้เหมาะสมตามช่วงวัยและระดับการศึกษาของนักเรียน

นอกจากนี้ยังมีการขับเคลื่อนด้วยคู่พี่เลี้ยงโรงเรียนวิทยาศาสตร์พลังสิบ กับโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา โดยมีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ในการพัฒนาเครื่องมือและวิทยากรหลัก เป็นพี่เลี้ยงพัฒนาให้กับเขตพื้นที่ประถมศึกษา และครูแกนนำวิทยาศาสตร์พลังสิบ

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ ซึ่งนำโดย ผอ.สสวท. ศึกษาหาแนวทางในการนำกลไก แนวทาง และแผนการดังกล่าวข้างต้นไปรวมให้เป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อสร้างระบบกลาง เป็นต้นแบบให้ทุกสังกัด พร้อมกันนี้ยังฝากให้ทุกหน่วยงานที่มีสถานศึกษา อาทิ กรุงเทพมหานคร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปพิจารณาแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนยกระดับผลการประเมิน PISA (ชื่อหน่วยงานนั้น ๆ )” เป็นของตนเองเพื่อทำงานสอดประสานกับคณะกรรมการ PISA แห่งชาติ ในทุกมิติตามบริบทของหน่วยงาน และนัดหมายประชุมครั้งที่ 2/2567 ในวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 ต่อไป

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ