“พิเชฐ” ประชุมคณะกรรมการพิจารณายกเว้นอากรนำเข้าสื่อ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการศึกษา

4 กรกฎาคม 2568 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณายกเว้นอากรนำเข้าสื่อ วัสดุ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการศึกษา ครั้งที่ 1/2568 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

โดยมีคณะกรรมการที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบญจา ชลธาร์นนท์ ศาสตราจารย์พลกฤษ์ แสงวณิช ปลัดหรือผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อธิบดีกรมศุลกากร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย คณะผู้บริหารระดับสูงและคณะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ

มีวาระพิจารณาสำคัญ เรื่อง เห็นชอบคำขอยกเว้นอากรนำเข้าวัสดุการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติในการขอยกเว้นอากรนำเข้าวัสดุการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม พ.ศ. 2527 ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จำนวน 3 คำขอ คือ
1) คำขอยกเว้นอากรนำเข้าฯ ชุดจำแนกองค์ประกอบทางเคมีของละอองลอย ในบรรยากาศตามเวลา จำนวน 2 ชุด (Time of Flight Aerosol Chemical Speciation Monitor)
2) คำขอยกเว้นอากรนำเข้าฯ ชุดจานรับสัญญาณดาวเทียม 6.1 เมตร พร้อมระบบควบคุม จำนวน 1 ชุด (Satellite Dish 6.1 Meter with Control System)
3) คำขอยกเว้นอากรนำเข้าฯ เครื่องกลึงหัวเพชร ระดับ 5 แกน และลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ควบคุมเครื่องจำนวน 1 ชุด (A Freeform Machine System : Single-Point Diamond Turning Machine and control software License)

ยื่นคำขอโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และมีวัตถุประสงค์ของการนำเข้า ดังนี้

  1. เพื่อใช้ในโครงการวิจัย “พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ” สำหรับวิเคราะห์องค์ประกอบเคมีของฝุ่น PM2.5 แบบเรียลไทม์ ช่วยศึกษาสัดส่วนแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการผลิตในประเทศไทย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
  2. เพื่อใช้ในการวิจัยในโครงการ  “การประเมินความพร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ (Space environment testing) ของต้นแบบวิศวกรรมดาวเทียมสำรวจและวิจัยใกล้ผิวโลก TSC-1 ให้พร้อมขึ้นสู่วงโคจร” และเตรียมใช้สำหรับการทดสอบระบบสื่อสารดาวเทียม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ระบบสื่อสารดาวเทียม กับสถานีภาคพื้นดินของโครงการพัฒนาดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1 ในการนำเข้าจานดาวเทียมย่านความถี่ S/X band จะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนาระบบสื่อสารดาวเทียม ของดาวเทียม TSC-1 โดยจะช่วยในการพัฒนาการติดต่อสื่อสารระหว่างดาวเทียมกับสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน และยังเป็นอุปกรณ์สำคัญในการพัฒนาซอฟแวร์ระบบควบคุมภารกิจดาวเทียม (Mission Ground Control Software) สำหรับการควบคุมและสั่งการดาวเทียมระหว่างปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีความสามารถในการพัฒนาและควบคุมดาวเทียมด้วยตนเอง เป็นการสร้างองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรไทยในด้านเทคโนโลยีอวกาศ อีกทั้งยังสามารถรองรับการใช้งานในโครงการอวกาศอื่น ๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคต
  3. เพื่อใช้ในการดำเนินงานวิจัยภายใต้โครงการ “เพิ่มขีดความสามารถของการสร้างทัศนอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยการผลิตกระจกโลหะและกระจกรูปทรงอิสระ” โดยใช้อุปกรณ์สำหรับขึ้นรูปผิวสะท้อนจากวัสดุประเภทโลหะ เช่น อะลูมิเนียม และอัลลอยด์ทองแดง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมกระจกโลหะและกระจกรูปทรงอิสระ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของการสร้างเครื่องมือทาง
    ดาราศาสตร์ ที่ใช้เพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนา ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติขนาด 2.4 เมตร กล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลขนาด 0.7 เมตร และอุปกรณ์ Hyperspectral Imager บนดาวเทียม TSC-1 รวมถึงอุปกรณ์ทางแสงอื่น ๆ ที่พัฒนาร่วมกับสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวนประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การรับรองการยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อการศึกษาและการวิจัย ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 อีกด้วย

รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นย้ำในที่ประชุมเกี่ยวกับการพิจารณาว่า “ให้คำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นต่าง ๆ ที่เหมาะสม ประโยชน์สูงสุดกับทางราชการ ภายใต้แนวปฏิบัติที่ไม่ขัดต่อระเบียบ และตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วน ภายในระยะเวลาการส่งมอบงานที่กำหนด และเตรียมความพร้อมในการดำเนินการต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

สุกัญญา จันทรสมโภชน์ / สรุป
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ