‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ จัดงาน Open House พร้อมผนึกกำลังหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน-ท้องถิ่น ครอบคลุมการศึกษาของผู้ด้อย พลาด และขาดโอกาส ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกช่วงวัย

รมว.ศธ. “ตรีนุช เทียนทอง” เป็นประธานเปิดงาน Open House “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” (Department of Learning Encouragement : DOLE) ย้ำต้องทำงานร่วมกับ 3 เสาหลัก “รัฐ เอกชน และท้องถิ่น” ครอบคลุมการศึกษาของผู้ที่ด้อย พลาด และขาดโอกาส ทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกช่วงวัย ให้สมกับความคาดหวังจากสังคมที่จะเป็นกำลังสำคัญของหน่วยงานการศึกษา เพื่อยกระดับ สร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนรู้ของไทยในศตวรรษที่ 21

คลิป TikTok บรรยากาศภายในงานฯ : https://vt.tiktok.com/ZSL6BqetE/

14 มิถุนายน 2566 เวลา 09.09 น. / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุเทพ ชิตยวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะคณะที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษา, นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายคมกฤช จันทร์ขจร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) รักษาราชการแทนอธิบดี สกร., ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน (รง.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตลอดจนผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร ศธ. ร่วมจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ถวายภัตตาหารและจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์

จากนั้น รมว.ศธ. ได้เปิดป้าย “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” โดยพระสงฆ์ 9 รูป สวดเจริญชัยมงคลคาถา พร้อมพรมน้ำพระพุทธมนต์ และเจิมป้ายฯ ณ บริเวณหน้าอาคารกรมส่งเสริมการเรียนรู้

เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมบุณยเกตุ หอประชุมคุรุสภา / รมว.ศธ. กล่าวแสดงความยินดีว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่นให้ประชาชนไทยทุกช่วงวัยมีโอกาสเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยพัฒนาตามความพร้อม ความสามารถ ความเหมาะสม ตามความต้องการ ส่งเสริมสร้างความรู้และทักษะในการดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกยุคใหม่ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้คนไทยในอนาคตเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีแบบแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในอดีตที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือของประชาชน อันเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ ได้ปรับฐานะเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียน หรือที่เรารู้จักกันในนาม กศน. ได้ขยายภารกิจในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้งเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้ด้อย พลาด ขาดโอกาสทางการศึกษา และประชาชนทั่วไปทุกช่วงวัย ได้เข้ารับบริการการศึกษาและการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ทำให้ กศน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคนให้มีความรู้และทักษะความสามารถ ยกระดับการศึกษาของประชาชนให้สูงขึ้น พร้อมกับการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้ประชาชนสามารถจัดการชีวิตของตนเองอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

ปัจจุบันวิถีชีวิตและการเรียนรู้ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป จากความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีและการสื่อสาร การขยายตัวทางสังคมในโลกยุคใหม่ที่ได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เกิดองค์ความรู้และวิทยาการใหม่ ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรเกิดความต้องการในการแสวงหาความรู้ นำไปสู่การเรียนรู้ในแทบทุกกิจกรรมของสังคม ส่งผลให้เกิดกิจกรรมเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น

รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และพิจารณาเห็นว่าควรมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ จึงได้มีการผลักดันพระราชบัญญัติส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และจัดตั้งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาส จะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้ปรัชญา No One Left Behind : การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ภารกิจของกรมส่งเสริมการเรียนรู้จะมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามความสนใจหรือความถนัด ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกประเภท และองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา สามารถรู้เท่าทันการพัฒนาของโลกอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเอง ครอบครัว ชุมชน หรือสังคม รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้ด้อย พลาด และไม่ได้รับการศึกษาในสถานศึกษา หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดาร ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตามสิทธิที่ควรได้รับ รวมทั้งการจัดให้มีการเรียนรู้รูปแบบอื่นที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน โดยทั้งหมดนี้ผ่านการมีส่วนร่วมของ 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐ เอกชน และท้องถิ่น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่รับผิดชอบก็จะขยายวงกว้างขึ้น ครอบคลุมทุกกลุ่มทุกช่วงวัย ให้สมกับความคาดหวังจากสังคมว่า “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” จะเป็นกำลังสำคัญที่จะยกระดับสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการเรียนรู้ของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ต่อไป”

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ
นัทสร ทองกำเหนิด – พบพร ผดุงพล / TikTok