รักษาราชการแทน รมว.ศธ. “ชูศักดิ์” ลุยงานแรก ร่วมเวทีโลก GFEAI 2025 หนุนตั้งศูนย์ธรรมาภิบาล AI ระดับภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร” นำประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมระดับโลก ภายใต้ 3 กระทรวงหลัก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 27 มิถุนายน 2568 มีผู้เข้าร่วมกว่า 104 ชาติ ประเทศไทยร่วมแสดงบทบาทผู้นำระดับภูมิภาคในการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม พร้อมเดินหน้าพัฒนา AI อย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคนอย่างเท่าเทียม
25 มิถุนายน 2568 / นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมงานการประชุมสัมมนาวิชาการนานาชาติ The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of Artificial Intelligence (GFEAI) 2025 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ พร้อมด้วย H.E. Ms. Audrey Azoulay ผู้อำนวยการใหญ่องค์การ UNESCO, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, Mr. Flavio Bonetti หัวหน้าสำนักงานเลขานุการผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก, Ms. Soohyun Kim ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ, นายศรันย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก และนางสาวสุปรานี คำยวง รองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก เข้าร่วม
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร กล่าวว่า ประเทศไทยมีแนวทางสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อประโยชน์ของประชาชนในทุกมิติ มีการส่งเสริมการใช้ AI เพื่อประโยชน์ของสังคม โดยเฉพาะในด้านเกษตรกรรม สาธารณสุข และการศึกษา ควบคู่กับการป้องกันการใช้ AI ในทางที่ผิด อาทิ การสร้างข่าวปลอมหรือ Deepfake ที่บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือในสังคม การเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง การใช้ AI ปราบปรามสแกมเมอร์และอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญของโลก รวมถึงการพัฒนา AI ที่ “ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” โดยมุ่ง “เสริมแรงงาน ไม่ใช่แทนที่แรงงาน” โดยรัฐบาลจะร่วมกับภาคธุรกิจและสถานศึกษาในการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
รัฐบาลไทยเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ชาติด้าน AI ภายใต้การกำกับของ “คณะกรรมการ AI แห่งชาติ” โดยมุ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และหลักจริยธรรมที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก AI ไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท ภายในปี 2570 พร้อมส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพ และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้ AI ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ เกษตรกรรม และการศึกษา เพื่อให้เทคโนโลยี AI เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในทุกมิติ
โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนา AI อย่างมีจริยธรรม การนำไปใช้ในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และบริการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชน ประเทศไทยได้ประเมินความพร้อมด้าน AI ผ่านเครื่องมือ UNESCO RAM (Readiness Assessment Methodology) เพื่อให้เข้าใจสถานะปัจจุบันของประเทศอย่างเป็นระบบ มีแนวทางปรับปรุงในหลายรูปแบบ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล นโยบายข้อมูล และทักษะของบุคลากร ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย การจัดตั้งศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ระดับภูมิภาค (AI Governance Practice Center: AIGPC) ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ การฝึกอบรม และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีด้าน AI รวมถึงยกระดับศักยภาพบุคลากรในภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืน
Ms. Audrey Azoulay กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน AI ไม่ได้เปลี่ยนแค่ชีวิตประจำวัน แต่กำลังกระทบถึง นโยบาย สังคม และความเสมอภาค ความท้าทายใหญ่คือ “ช่องว่างระหว่างผู้ที่เข้าถึงกับผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ซึ่งกำลังขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ UNESCO จึงเร่งสร้าง “มาตรฐานจริยธรรม AI ระดับโลก” พร้อมจับมือทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน วิชาการ และประชาสังคม เพื่อร่วมกันออกแบบอนาคต AI ที่ โปร่งใส รับผิดชอบ และปลอดภัย โดยใช้เครื่องมือสำคัญอย่าง “UNESCO RAM” ที่เปิดให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้จริง เพื่อผลักดัน AI ที่ปลอดภัยและยั่งยืนให้กับโลก
นอกจากนี้ UNESCO ได้มีการหารือร่วมกับรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ”แพทองธาร ชินวัตร“ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันในการตั้ง “ศูนย์ AI Governance Practice Center (AIGPC) หรือ ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ระดับภูมิภาค” เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะว่าด้วยจริยธรรม AI โดยเฉพาะในบริบทของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศต่าง ๆ ในการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ
ความร่วมมือนี้ยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภูมิภาคในการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่เกิดจากการใช้ AI ในทางที่ผิด โดยเฉพาะการนำ AI มาใช้เพื่อหลอกลวงประชาชน เช่น การปลอมเสียงและใบหน้าผ่านเทคโนโลยี Deepfake การส่งข้อความหลอกลวงผ่านระบบอัตโนมัติ และการสนับสนุนขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์หรือ Call center ซึ่งล้วนเป็นภัยที่เกิดขึ้นจริงและแพร่กระจายรวดเร็วในหลายประเทศ ซึ่งการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนนี้ เป็นการสะท้อนว่าประเทศไทยพร้อมเดินหน้าร่วมกับประชาคมโลกอย่างมั่นคง บนเส้นทางของการพัฒนา AI ที่มีจริยธรรม โปร่งใส และยั่งยืน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้เรียนทุกช่วงวัยอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม สมรรถนะสำคัญ และความพร้อมในการใช้ชีวิตในสังคมยุคดิจิทัล ภายใต้บริบทของประเทศและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการ “ปฏิรูปการศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศ” โดยมุ่งยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของคนไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในศตวรรษที่ 21 และก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมั่นคง
นอกจากนี้ยังได้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้แห่งชาติ และพัฒนา “คู่มือการใช้ AI สำหรับครู นักเรียน โรงเรียน และผู้ปกครองในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2568” เพื่อส่งเสริมการใช้ AI อย่างเข้าใจและปลอดภัยในสถานศึกษา พร้อมกับมีการจัดโครงการพัฒนาครูแกนนำ “LEAD Education: AI” และครูดีเด่น “Elegant LEAD Education: AI” ให้สามารถออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลด้วย AI รวมถึงการใช้ AI เพื่อพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา และเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครูไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ยุคใหม่
ทั้งยังได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามความร่วมมือใน “โครงการขับเคลื่อนการสอนปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษา” เพื่อพัฒนาความรู้ด้าน AI และปลูกฝังความเข้าใจด้านจริยธรรมในการใช้งาน พร้อมยกระดับการศึกษาสู่มาตรฐานสากล โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะผู้เรียนทั้งในด้านวิชาการ การคิดวิเคราะห์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีวิจารณญาณ เป้าหมายสำคัญคือให้นักเรียนไทยสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะในด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่สะท้อนผ่านการทดสอบระดับชาติ (O-NET) และการประเมินระดับนานาชาติ (PISA) ที่สะท้อนศักยภาพของนักเรียนไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ
ทั้งนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้นำในหลายประเทศ มาร่วมแชร์วิสัยทัศน์และมุมมองครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยี นโยบาย และนวัตกรรม พร้อมด้วยกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) จากพาร์ทเนอร์ทั้งไทยและต่างประเทศที่ร่วมกันจัดขึ้น กับงาน “Bangkok AI Week 2025” ภายใต้แนวคิด “AI Powered Nation: Unleashing the Digital Economy for All” โดยมีกิจกรรมมากมายทั่วกรุงเทพฯ อาทิ นิทรรศการเทคโนโลยี AI เวิร์กช็อปการใช้งานจริง เสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดจากนักวิจัยและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ รวมถึงโชว์เคส AI จากบริษัทชั้นนำ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนได้มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของ AI ที่ทุกคนได้ประโยชน์ไปด้วยกัน
อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว-กราฟิก
ธนภัทร จันทร์ห้างหว้า / ภาพ