ศธ. วาง 3 แนวทางหลัก “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ” คลี่คลายปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษา “เพิ่มพูน” ย้ำ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 39/2567 ขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA เร่งพัฒนาครูให้เป็นนักสร้างข้อสอบด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ตามมาตรฐานสากล พร้อมวางกรอบแนวทาง “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ” ครบทุกมิติ Zero Dropout สนับสนุนเด็กที่ออกนอกระบบให้ได้รับการศึกษา ช่วยเหลือในส่วนของการจัดหางาน ส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพ สามารถทำงานพึ่งพาตนเองได้ เติบโตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ

13 พฤศจิกายน 2567 / พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมประสานภารกิจ ครั้งที่ 39/2567 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ และผ่านระบบ e-Meeting

ภายหลังการประชุม รมว.ศธ. พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ. นายประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ สกศ. และนายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. แถลงข่าว ณ ห้องแถลงข่าว

รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานเป็นอย่างดี ซึ่งในขณะนี้ ศธ. ยังมีภารกิจที่ต้องเร่งดำเนินการ รวมถึงการขับเคลื่อนคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้ดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ตามแนวทางทำดี ทำได้ ทำทันที

สาระสำคัญจากการประชุม โดยสรุป ดังนี้

การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA

รมว.ศธ. กล่าวว่า จากที่เราได้มีการดำเนินงานขับเคลื่อนมาเป็นระยะเวลาพอสมควร จึงฝากให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งการอบรมครู การทดลองทำข้อสอบระบบผ่านระบบออนไลน์ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการสอบ PISA มีการติดตามผลการเรียนรู้ของนักเรียนเพื่อประเมินความก้าวหน้าในการยกระดับการศึกษา การประเมินผลจากการปรับปรุงข้อสอบหรือ และการวัดผลการเรียนรู้ เพื่อดูว่ามีการพัฒนาขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทุกมิติ

ซึ่งจากผลการดำเนินงานการอบรมครูเพื่อสร้างให้เป็นนักสร้างข้อสอบตามมาตรฐานสากล ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างและพัฒนาข้อสอบวัดความฉลาดรู้ ด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำมาสู่แนวทางการปฏิบัติ ในห้องเรียนจริง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อนำแนวทางการติดตามผลการดำเนินงานไปสู่ภาคเรียนที่ 1 ในปีการศึกษา 2568

นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้เสนอแนวคิดในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการประเมินนานาชาติ (PISA) โดยการเพิ่มการทดสอบความสามารถในการออกข้อสอบเชิงวิเคราะห์สำหรับการสอบครูผู้ช่วย การพัฒนาทักษะการออกข้อสอบเชิงคิดวิเคราะห์ในการเตรียมความพร้อมครูผู้ช่วย และการพัฒนาครู โดยการเพิ่มประเด็นการพัฒนาการออกข้อสอบแนว PISA และนำไปทดลองให้ใช้จริงกับผู้เรียน มีการเชื่อมโยงกับการประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance Agreement : PA ) และในส่วนของผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา มีการนำการพัฒนาทักษะการออกข้อสอบของครู มาเป็นประเด็นท้าทายในการพัฒนางาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

รมว.ศธ. กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับชาติ และเห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ เพื่อระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบให้ได้รับการศึกษา ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการก็ได้เร่งแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ

การติดตามช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบนั้น ฝากกระบวนการ และกรอบแนวทาง 3 ด้าน ในการ “ป้องกัน แก้ไข ส่งต่อ” เด็กที่ออกนอกระบบ ทำอย่างไรให้เด็กไทยได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง “ป้องกัน” เด็กหลุดออกนอกระบบ พร้อมหาสาเหตุที่เด็กออกนอกระบบเพื่อจัดทำแนวทางในการ “แก้ไข” เพื่อดำเนินการ “ส่งต่อ” เด็กตามความสมัครใจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ในส่วนของจำนวนเด็กและเยาวชนที่ออกนอกระบบการศึกษาประมาณ 1.9 แสนคน จะเร่งดำเนินการให้กลับเข้าสู่ระบบให้เหลือ 0 คนให้ได้โดยเร็วที่สุด แต่ในกรณีที่เป็นเด็กไร้สัญชาติไทย ต้องถือเป็นความประสงค์ของเด็กเหล่านั้น

ฝาก สพฐ. สป. และ สกร. ร่วมกันบูรณาการการดำเนินงาน รวมถึง สช. และ สอศ. เพื่อให้ครบทุกมิติ Zero Dropout ในมิติของการดำเนินงานนั้น ไม่ใช่เพียงแต่เพื่อสนับสนุนให้เด็กได้รับการศึกษาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือในส่วนของการจัดหางาน หรือส่งเสริมการฝึกทักษะอาชีพ ให้สามารถทำงานพึ่งพาตนเองได้ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กมีทางเลือกที่หลากหลายในการเติบโตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ

สำนักงานศึกษาธิการภาค และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา โดยมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ มีการนำกระบวนการติดตามและส่งต่อเด็กนอกระบบการศึกษาให้กับเข้าสู่ระบบการศึกษา อาทิ เด็กอายุ 3 – 15 ปี ส่งต่อให้กับ สพฐ. เพื่อนำเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เด็กอายุ 16 – 18 ปี ส่งต่อให้กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กรณีเด็กยากจนส่งข้อมูลให้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อดูแลช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ และกรณีเด็กที่ไม่ต้องการเข้าสู่ระบบการศึกษา ให้ส่งต่อข้อมูลให้จัดหางานจังหวัด

ในส่วนของข้อมูลเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 6 – 18 ปี ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้พัฒนาระบบแพลตฟอร์มข้อมูลผู้เรียนกรมส่งเสริมการเรียนรู้ DILE LEARNER DATA PLATFORM : LD ที่จะสามารถสำรวจจำนวนเด็กที่ออกนอกระบบ ทั้งในประเทศไทยและที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ รวมถึงสิ่งที่ต้องการให้สนับสนุนและสาเหตุที่ไม่เข้ารับการศึกษา เพื่อติดตามและรายงานผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบแบบเรียลไทม์ โดยมีข้อมูลรายจังหวัดและรายอำเภอ ซึ่งระบบนี้จะทำให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และหาแนวทางช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือช่วยเหลือต่อไป

การขับเคลื่อนการติดตามและส่งต่อเด็กนอกระบบการศึกษากลับเข้าสู่ระบบการศึกษา โดย สพฐ.ได้ดำเนินโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน นำการเรียนไปให้น้อง” (OBEC Zero Dropout) “เรียนดี มีความสุข” ได้ขับเคลื่อนนโยบายไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 245 เขต ทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยดำเนินงานผ่านศูนย์พัฒนาระบบข้อมูลทางการศึกษา เพื่อแจ้งฐานข้อมูลเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาและเด็กตกหล่น ไปยัง สพท. ทุกเขต เพื่อเร่งติดตามพาเด็กและเยาวชนกลับมาเรียน รวมถึงการติดตามเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อจะช่วยให้เด็กไทยได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ตามความต้องการจำเป็น

การประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

รมว.ศธ. กล่าวว่า ถือเป็นการเริ่มต้นการดำเนินงานที่ดี อยากให้มีข้อมูลสถานศึกษาครบทุกสังกัดกว่า 5 หมื่นแห่ง ทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน การพัฒนาครบทุกมิติ ครบทุกพื้นที่ โดยการพัฒนาระบบสารสนเทศในการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา และการประเมินอื่น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานของสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประเมินนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการปรับปรุงการสอน การบริหารจัดการ และการจัดทำแผนการศึกษาที่ตรงกับความต้องการและบริบทของแต่ละโรงเรียน

ทั้งในมิติของการตรวจสอบความเหมาะสมของหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน รวมถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียนในแต่ละสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้สามารถรับรู้ถึงปัญหาและอุปสรรคได้อย่างชัดเจน ช่วยกระตุ้นให้โรงเรียนพัฒนาระบบการเรียนการสอน ทรัพยากร และการจัดการภายในสถานศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ในมิติของภาพรวมได้จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การจัดทำปฏิทินช่วงเวลาการลงพื้นที่ประเมินสถานศึกษา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และเชื่อมโยงข้อมูลการประเมินคุณภาพสถานศึกษาของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการตรวจราชการผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอกและนำไปใช้ประโยชน์ในการติดตามสถานศึกษา

“ชื่นชมการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ข่าวสารด้านการศึกษา และช่องทางสำหรับการเผยแพร่เกี่ยวกับการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ถือว่ามีการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี ฝากให้มีการสื่อสารกันเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของสื่อมวลชนและหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของ ศธ. เพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับรู้ รับทราบข้อเท็จจริง และในการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย ของ ศธ. ขอให้ทุกหน่วยงานดำเนินการด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว เร่งด่วน มีประสิทธิภาพ“ รมว.ศธ. กล่าว

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว – กราฟิก
สมประสงค์ ชาหารเวียง,
นัทสร ทองกำเหนิด / ภาพ
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ,
ศศิวัฒน์ แป้นคุ้มญาติ / วิดีโอ