พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี (27 มีนาคม 2568) เห็นชอบแผนส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นแผนดำเนินงานจากคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ซึ่งประกอบด้วยนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม”
3 เร่ง
- เร่ง ให้ความรู้ความเข้าใจ แก่ผู้ปกครอง ครู ผู้ดูแลเด็ก ชุมชน และสังคม ในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทุกด้านของเด็กปฐมวัย
- เร่ง จัดสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า รวมถึงทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อการเติบโตอย่างอยู่ดีมีสุขของเด็กปฐมวัย
- เร่ง เสริมศักยภาพ อปท. ชุมชน และกลไกระดับพื้นที่ใกล้ตัวเด็ก เช่น รพ.อำเภอ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
3 ลด
- ลด การใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยอย่างจริงจัง และงดใช้ในเด็กก่อนวัย 2 ขวบ โดยห้ามให้ใช้โทรศัพท์มือถือหรือสื่อหน้าจอแก่เด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี โดยเด็ดขาด และเด็กปฐมวัยอายุ 3 ปีขึ้นไป ให้เล่นได้อย่างมีเงื่อนไข
- ลด ความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัย โดยการไม่เร่งการเรียนเขียนอ่านหรือยัดเยียดความรู้ให้เด็กปฐมวัย แต่เน้นการทำกิจกรรมที่หลากหลาย
- ลด การใช้ความรุนแรงกับเด็กปฐมวัย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยให้ยกเลิกการลงโทษด้วยวิธีการที่รุนแรงและการใช้คำพูดในเชิงลบ
3 เพิ่ม
- เพิ่ม กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ ผ่านการเล่นที่หลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา การออกกำลังกาย
- เพิ่ม การเล่าหรืออ่านนิทานกับเด็กสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา ทักษะสมอง จินตนาการ และเพิ่มความสุขอย่างสม่ำเสมอ
- เพิ่ม ความรัก ความใส่ใจ และเวลาคุณภาพของครอบครัว โดยการส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ มีความรู้และทักษะที่จะ “เล่นเป็นกอดเป็น คุยเป็น ฟังเป็น เล่าเป็น”
ทั้งนี้ การเห็นชอบนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” เนื่องจากที่ผ่านมาสภาวะวิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องหยุดทำการ และเด็กจำเป็นต้องอาศัยอยู่บ้านกับพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองไม่มีความพร้อมและไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้ตลอด 24 ชม. ประกอบกับพบว่าระยะเวลาการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ของเด็กสูงขึ้นทุกปี ส่งผลให้เด็กปฐมวัยอยู่ในสภาวะวิกฤตจากการใช้สื่อหน้าจอที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สภาวะวิกฤตจากความเหลื่อมล้ำในไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่า ไทยประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยสูงขึ้น โดยการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กอายุ 3-5 ปี ในปี 2562-2564 ลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสภาวะวิกฤตทางสังคม ครอบครัว จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในไทย เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 พบว่า ร้อยละ 17 ของหญิงอายุระหว่าง 20-24 ปี มีการสมรสก่อนอายุ 18 ปี ร้อยละ 25 ของเด็กอายุไม่เกิน 17 ปี ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ เนื่องจากพ่อแม่มักย้ายถิ่นฐานเพื่อไปประกอบอาชีพ ร้อยละ 71 ของเด็ก 0-17 ปี อาศัยอยู่กับปู่ ย่า ตา และยาย เป็นต้น
ดังนั้น จากสภาวะวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับเด็กปฐมวัย เช่น พัฒนาการของเด็กปฐมวัยหยุดชะงัก เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอยอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง การที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทั้งระบบอย่างจริงจังต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม ชัดเจน และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งผลให้เด็กปฐมวัยได้รับการฟื้นฟูและส่งเสริมพัฒนาการที่ดีรอบด้าน เกิดทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต.
รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง นางสาวปรัชญวรรณ วนานันท์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการศึกษา (นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร / สรุป