เสมา 3 แนะแนวการจัดการศึกษาเอกชนให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานไทยของต่างประเทศ

(1 สิงหาคม 2565) นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานการประชุม พร้อมกับให้คำแนะนำในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานไทยของต่างประเทศ แก่ผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนและผู้บริหารสถานประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน นายธาดา แดนลินจงเด่น กรรมการผู้จัดการบริษัทจัดหางาน Maju-Jaya จำกัด นายทาคาโยะ ซูซูกิ ผู้จัดการฝ่ายต่างประเทศ องค์กรดูแลผู้ฝึกงานทางเทคนิค KSK ประเทศญี่ปุ่น นางสาววรรณา ตันประภัสร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีชลบุรี นายสุเทพ เรืองปราชญ์ อุปนายกสมาคมการศึกษาเอกชนนอกระบบ (ประเทศไทย) พร้อมด้วยผู้บริหาร สช. คณะผู้บริหารจากโรงเรียนเอกชนในระบบ สถานศึกษาเอกชนนอกระบบ สถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน และตัวแทนนักเรียนที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ กล่าวว่า ในปัจจุบัน ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) ประเทศต่างๆ เริ่มกลับมาฟื้นฟูประเทศเพื่อให้กิจกรรมด้านเศรษฐกิจกลับมาสู่สภาพปกติ และกำลังแรงงานก็ถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคธุรกิจ ซึ่งแรงงานไทยถือเป็นประเทศลำดับแรกๆที่ตลาดแรงงานในต่างประเทศต้องการ เนื่องจากแรงงานไทยมีวินัยในการทำงาน และมีทักษะฝีมือดี ประเทศกับประเทศไทยสามารถบริหารจัดการโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทำให้โอกาสของแรงงานไทยในการไปทำงานต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานประเภทฝีมือและกึ่งฝีมือ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มช่องทางการทำงานในต่างประเทศให้กับแรงงานไทย และยังช่วยลดปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นภายในประเทศได้อีกด้วย
การประชุมในวันนี้จึงเป็นการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการจัดการเรียนการสอน และแนะแนววิธีการแนวทางการไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นของนักศึกษาไทย รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศของนักเรียน นักศึกษาให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การจัดการศึกษาเอกชนนอกระบบและวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชน ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาอาชีพและมีส่วนในการส่งเสริม ร่วมมือ และผลักดันในการนำนักศึกษาไทยไปทำงานที่ต่างประเทศ ซึ่งการที่นักศึกษาได้เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศทำให้มีโอกาสในการสร้างรายได้ที่สูงกว่าการทำงานในประเทศ สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้ ช่วยเหลือครอบครัวที่ประเทศไทยได้ ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการนำเงินกลับเข้าสู่ประเทศไทย เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งเพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าในอนาคตต่อไป นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ กล่าวทิ้งท้าย
ฐิติวัจน์ ชัยกิมานนท์ / ภาพ
ประกาย ศรีจันทึก / ข่าว
ประชาสัมพันธ์ สช.