เสมา 1 ปลื้มผลงานสิ่งประดิษฐ์เด็กไทย แนะหาวิธีการต่อยอดสร้างประโยชน์ให้ประชาชน

29 กันยายน 2566 / พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพบปะแสดงความยินดีกับทีมนักศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาจาก 5 วิทยาลัย พร้อมคณะครูที่ได้รับรางวัลจากร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการในเวทีนานาชาติ “Indonesia Inventor Day 2023” (ID 2023) ซึ่งจัดขึ้นที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศธ. กล่าวว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการและประชาชนไทย ขอขอบคุณและแสดงความชื่นชมทุกท่าน ทั้งนักศึกษาที่เข้าประกวด คณะครูอาจารย์ที่ช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ซึ่งชื่อเสียงนี้ก็จะอยู่ติดตัวเราตลอดไป ขอให้เก็บเป็นความภาคภูมิใจแก่ตนเอง หากบางครั้งเราทำอะไรแล้วไม่ได้ดั่งหวังก็อย่าเพิ่งท้อ ขอให้นึกถึงความภูมิใจที่มีในวันนี้ ชัยชนะในวันนี้จะเป็นพลังให้เราสู้ได้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การสร้างชื่อเสียงก็คือการประกาศให้ทุกคนรับรู้ แต่สิ่งสำคัญจริง ๆ คือ ผลงานที่เราทำ ที่เราคิดได้ในวันนี้ จะทำอย่างไรจึงจะต่อยอดไปได้ ทำอย่างไรถึงจะนำไปช่วยพี่น้องประชาชน หรือสร้างคุณภาพเพื่อให้ประชาชนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขอให้เก็บไปคิดและพัฒนาผลงานที่ทำออกมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดแผนงานการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของนักวิจัยและนักประดิษฐ์อาชีวศึกษา เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในงาน Indonesia Inventors Day 2023 (IID 2023) มีตัวแทนสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 5 แห่ง เข้าร่วมการประกวด ระหว่างวันที่ 16- 20 กันยายน 2566 โดยได้รับรางวัลดังนี้

1. วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ผลงาน “โอ่งคั่วเมล็ดแบบโรตารี่ระบบอัตโนมัติ” ได้รับรางวัล Gold Madal และรางวัล SPECIAL PRIZE on Stage จาก Korea Invention Promotion Association

2. วิทยาลัยเทคนิคลำปาง
– ผลงาน “เครื่องอบกระเทียมดำประหยัดพลังงานเพื่อยกระดับชุมชน” ได้รับรางวัลเหรียญทอง และรางวัล WIIPA SPECIAL AWARD
– ผลงาน “เครื่องผสมเกสรดาวเรือง” ได้รับรางวัลเหรียญทอง

3. กาญจนาภิเษกวิทยาลัย ช่างทองหลวง ผลงาน “ชุดเครื่องประดับถมนคราร่วมสมัย” ได้รับรางวัล Gold Madal และรางวัล WIIPA SPECIAL AWARD

4. วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี ผลงาน “มิเตอร์ ไอโอที” ได้รับรางวัล Gold Madal และรางวัล MyRIS SPECIAL AWARD จาก MALAYSIAN RESEARCH & INNOVATION SOCIETY

5. วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ผลงาน “หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์​-อัมพาต Walking robot for rehabilitation of paralysis patient” ได้รับรางวัล เหรียญทอง Gold Prize Indonesia Inventors, ได้รับรางวัลพิเศษเหรียญทองจาก The Moroccan delegation of inventor and EMSL group ประเทศโมร็อกโก, ได้รับรางวัลพิเศษเหรียญทองจาก Special Award จาก World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ประเทศไต้หวัน และรางวัลพิเศษ Special Award จาก Sepuluh Nopember Institute of Technology Surabaya สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ