รองปลัด ศธ.’พิเชฐ’ หารือสมาชิกวุฒิสภา ร่วมส่งเสริม 5 เมืองเครือข่าย “เมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก” ของไทย ยกระดับให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้

กระทรวงศึกษาธิการ 22 มิถุนายน 2566 / นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ และนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน พร้อมหารือเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ณ ห้องประชุมจันทรเกษม

รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ศธ.ยินดีสนับสนุนและเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่อง “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์” ที่หารือกันครั้งนี้ เพราะทุกจังหวัดมีสิ่งที่ดีงาม เป็นความภูมิใจของประเทศไทยในทุกมิติ กระทรวงที่รับผิดชอบต้องบูรณาการร่วมกัน จัดประชุมอบรม สร้างการรับรู้ และหากมีมติร่วมกันที่จะเดินหน้าในเรื่องนี้อย่างมุ่งมั่น ควรให้ผู้ที่มีบทบาทในพื้นที่เป็นกุญแจหลัก เพื่อเดินต่อได้อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมาได้มีการสร้างการรับรู้และจัดการสัมมนาทุกปี เพื่อเชิญส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม NATCOM ได้มีส่วนร่วมทุกเวทีในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง วันนี้ได้เล็งเห็นว่า จุดที่จะขยายผลมีอยู่มาก หน่วยงานการศึกษากับภาคสังคมถือเป็นตัวขับเคลื่อนที่มีพลัง และในอนาคตจะเป็นการยกระดับ “เมืองสร้างสรรค์” ให้เป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ได้อย่างแน่นอน

รองปลัด ศธ. กล่าวด้วยว่า องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เป็นหนึ่งในองค์การชำนาญพิเศษของสหประชาชาติ (UN) ด้วยในอดีต ศธ.เคยมีกรมการศาสนา สำนักงานวัฒนธรรม รวมอยู่ด้วย จึงตั้งสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ มีภารกิจในขอบข่ายงานของยูเนสโก 5 สาขา ได้แก่ การศึกษา (Education) วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Sciences) วัฒนธรรม (Culture) สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ (Social and Human Sciences) และการสื่อสารและสารสนเทศ (Communication and Information)

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ / ภูมิภาคหรือชุมชนท้องถิ่น ผ่านการร่วมมือระหว่างเมือง โดยใช้วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นกลไกขับเคลื่อนเชิงกลยุทธ์สำหรับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยมีสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ 5 เมือง ได้แก่

  1. เทศบาลเมืองภูเก็ต เครือข่ายด้านอาหาร (Gastronomy)
  2. องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art)
  3. กรุงเทพมหานคร เครือข่ายทางด้านการออกแบบ (Design)
  4. องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย เครือข่ายด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art)
  5. จังหวัดเพชรบุรี เครือข่ายด้านอาหาร (Gastronomy)

 

พบพร ผดุงพล /ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ