“อรรถพล” มอบโล่และเกียรติบัตรแก่ผู้บริหารและครูที่เข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของสำนักงานศึกษาธิการกรุงเทพฯ ร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

ปลัด ศธ. “อรรถพล สังขวาสี” มอบโล่และเกียรติบัตรแก่ผู้บริหาร ครู นักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการต่างๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงานศึกษาธิการกรุงเทพมหานคร ชูส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา คู่ขนานวิชาการ เพื่อหลอมผู้เรียนให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อประเทศ ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ

ชมภาพ Facebook ศธ.360 องศา

18 สิงหาคม 2566 / นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมอบโล่และเกียรติบัตรแก่ผู้บริหาร ครู นักเรียนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการต่างๆ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของสำนักงานศึกษาธิการกรุงเทพมหานคร ในการประชุมวิชาการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาในกรุงเทพฯ สู่มหานครแห่งนวัตกรรมการศึกษา (Academic Conference on Upgrading the Quality of Education in Bangkok to the Capital of Innovation) ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ. กล่าวตอนหนึ่งว่า การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญในโลกที่มีความผันผวนมากมายของ Disruption และโรคอุบัติภัยใหม่ ๆ หรือเรียกว่า VUCA World ศธ.จึงต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่การศึกษาไทย การศึกษาทั่วโลกก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ซึ่งคุณภาพของคนที่ออกมาจากระบบการศึกษา บ่งบอกถึงคุณภาพของประเทศ รัฐบาลไทยจึงได้ออกพระราชบัญญัตินวัตกรรมการศึกษาเชิงพื้นที่ขึ้นมา เพื่อมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ในการผลิตนวัตกรขึ้น

ถ้ามองเจาะลึกลงไปนักเรียนในหนึ่งห้องเรียน จะมีประมาณ 3-5 คน ที่ฉลาดมากกว่าเพื่อน เราต้องแยกนักเรียนกลุ่มเหล่านี้ออกมา และลงทุนการศึกษาเติมความรู้เทคโนโลยี วิชาการต่าง ๆ หรือกีฬา ดนตรีเข้าไป ถึงแม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็จะได้ทรัพยากรบุคคลแบบที่เราต้องการ

“แผนการการศึกษาแห่งชาติ มีพันธกิจอยู่หลายข้อ แต่คนจะไปมองเรื่องเทคโนโลยี ภาษาที่สองเป็นสำคัญ เพราะทันสมัยน่าสนใจ ส่วนเรื่องศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา กลับโดนหลงลืม หรือไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งที่ความเป็นจริงเราควรส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม เพราะทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ด้านศิลปะต้องสร้างให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พัฒนาให้เกิดจินตนาการเชิงระบบ (จินตวิศวกรรม) ส่วนด้านวัฒนธรรมต้องสอนให้รู้จักกำพืด รู้จักตนเอง นามสกุล บรรพบุรุษ เอื้อไปถึงประวัติศาสตร์ว่ามันมีที่มาที่ไป อย่างน้อยเราก็มีความเป็นมนุษย์ มี Soft Power มีภาษาไทย มีขนบธรรมเนียมประเพณีไทย มีพระมหากษัตริย์ไทย สุดท้ายด้านกีฬา ไม่ได้จะให้ต้องไปโอลิมปิกทุกคน เพียงแค่ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อไปประกอบอาชีพด้วยสภาพร่างกายที่แข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมานั้นจะหลอมเป็นทุกคนที่สมบูรณ์ เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญต่อประเทศตามแผนการศึกษาแห่งชาติต่อไป”

 

 

ในการนี้ ปลัด ศธ. ให้เกียรติมอบโล่และเกียรติบัตรแก่ผู้บริหารและครูที่เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วยโครงการ Innovation For Thai  Education ( IFTE ) นวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาการศึกษา, โครงการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาปฐมวัยในระดับพื้นที่กรุงเทพมหานคร, โครงการสร้างและส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามรอยพระยุคลบาทด้านการศึกษาสู่การปฏิบัติในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, โครงการขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ทางทะเลและมหาสมุทร และผลประโยชน์ของชาติทางทะเลไปสู่การเรียนการสอนในสถานศึกษาพื้นที่นำร่องของกรุงเทพมหานคร ประจำปีงบประมาณ 2566, โครงการส่งเสริมเวทีและประชาคมเพื่อการจัดทำรูปแบบและการพัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องเชื่อมโยงการศึกษาขั้นพื้นฐานกับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา, โครงการส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนของครูในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้แนวทางการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ประจำปีงบประมาณ 2566, โครงการขับเคลื่อนการดำเนินงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, โครงการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ กระทรวงศึกษาธิการ และโครงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ “หลักสูตรพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารด้านอาชีพในศตวรรษที่ 21” ของ ศธจ.กรุงเทพฯ

โดยผลจากการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าวข้างต้น จะก่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือของบุคลากรทุกภาคส่วนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งในด้านกระบวนการบริหารจัดการศึกษา กระบวนการจัดการรู้ และกระบวนการนิเทศการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ นำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพในทุกระดับที่มีการจัดการศึกษา รวมทั้งมีการบูรณาการ การนิเทศติดตามและประเมินผล ของหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านนวัตกรรมการศึกษา ด้านหลักสูตร ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน และการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของสถานศึกษาให้บรรลุตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ

ตลอดจนครูผู้สอนมีการพัฒนาตนเอง และพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้และมีความสุขในการเรียนรู้ สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพในแต่ละช่วงวัย ซึ่งการดำเนินงานโครงการฯ จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมหาศาลอันเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นทรัพยากรบุคคลที่พร้อมไปด้วยศักยภาพและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ต่อไป

 

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ศุภณัฐ วัฒนมงคลลาภ / ภาพ