จังหวัดนครปฐม – 4 พฤศจิกายน 2567 / นายวรัท พฤกษาทวีกุล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลการคัดเลือกรางวัลเชิดชูเกียรติพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (รางวัลเสมาพิทักษ์) ประจำปี พ.ศ. 2567 ณ สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
สำหรับการประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลการคัดเลือกรางวัลเชิดชูเกียรติพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (รางวัลเสมาพิทักษ์) ประจำปี พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้ เพื่อกลั่นกรองพิจารณาคัดเลือกผลงานที่ผ่านตามเกณฑ์ฯ ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แก่บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น และส่งเสริมให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา มีขวัญและกำลังใจ ในการปฏิบัติงานและเกิดความภาคภูมิใจและมีเจตคติที่ดีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา
โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนและนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมให้ได้รับการส่งต่ออย่างถูกต้องเหมาะสม ตามหลัก 3 ป. ได้แก่ “ปลูกฝัง ป้องกัน ป้องปราม” ที่มุ่งให้ผู้เรียน “เรียนดี มีความสุข” ให้สามารถกลับเข้ามาศึกษา จนจบการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งมีคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาฯ เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย ศึกษาธิการจังหวัด, รองศึกษาธิการจังหวัด, ผู้อำนวยการกลุ่มลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด, ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาสถานศึกษาในสังกัดอาชีวศึกษา และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา
รองปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกลุ่มส่งเสริมและพัฒนากิจการนักเรียนและนักศึกษา สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน ผู้รับผิดชอบโครงการ จะต้องมีการพัฒนางานในส่วนต่าง ๆ อาทิ
- งานอบรมเพื่อต่อยอดและขยายผลจำนวน พสน. ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งต้องมีการนำเครือข่ายลงลึกในระดับตำบลและหมู่บ้าน โดยเน้นบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานสหวิชาชีพในแต่ละพื้นที่ ต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างทั่วถึง มีการต่อยอดและขยายผลในกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
- การขับเคลื่อนงานการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาผ่านคณะกรรมการฯ ในแต่ละระดับ (จังหวัด / ภาค / ประเทศ)
- การปรับรายละเอียดและความถูกต้อง ของ บัตร เครื่องแต่งกาย และระเบียบหรือกฎหมายที่ถูกต้อง เกี่ยวกับ พสน.
- การจัดทำฐานข้อมูล พสน. และการนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการดูแลนักเรียนและนักศึกษาแต่ละพื้นที่
- การปฏิบัติภารกิจของ พสน. ทั้งการคุ้มครองสิทธิเด็กและการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา
- กลไกและระบบการขับเคลื่อนงาน พสน. ในภาพรวม
- ความชัดเจนต่อกรอบแนวทาง อำนาจ และหน้าที่ ของ ศูนย์ความปลอดภัย (ศธ.) และศูนย์เสมารักษ์สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
- กลไกของเครือข่ายระดับจังหวัด ต้องมีความเข้มแข็ง (ระบบใยแมงมุม) พสน. ต้องปฏิบัติหน้าที่ได้ชัดเจน เป็นรูปธรรม การหาเครือข่าย และการรายงานผลการปฏิบัติงาน
- การแก้ปัญขาข้อจำกัดด้านทรัพยากร การออกตรวจ เฝ้าระวัง และรถเสมารักษ์ เหล่านี้เป็นต้น