พิธีเปิดป้าย ศปบ.จชต. และมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครู และบุคลากรทางการศึกษา ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
พิธีเปิดป้าย ศปบ.จชต. และมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครู และบุคลากรทางการศึกษา ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อเวลา 11.00 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดป้ายศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (ศปบ.จชต.) เป็นหน่วยงานทางการศึกษาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 มีภารกิจหลักในการขับเคลื่อนนโยบายทางการศึกษา แผนยุทธศาสตร์ และมาตรการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่การปฏิบัติ ประสาน ส่งเสริม กำกับ ติดตามการปฏิบัติงานการศึกษา และบูรณาการการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบททางสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้ประกอบการดำเนินงาน โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ได้มีการจัดทำพิธีวางศิลาฤกษ์ (รากฐาน) อาคารศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ที่แห่งนี้ ตั้งอยู่เลขที่ 61 หมู่ 1 ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ปัจจุบันอาคารได้สร้างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และมีการใช้งานอย่างถาวร
และในเวลา 11.30 น. นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมพิธีกล่าวสดุดียกย่องเชิดชูเกียรติ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานในพิธีว่า ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เหตุการณ์ความไม่สงบได้สร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินให้กับทุกกลุ่มอาชีพ อาชีพครูเป็นเป้าหมายของผู้ก่อเหตุความรุนแรง เริ่มจากการเสียชีวิตของครูคนแรก เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2547 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ถูกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงทำร้ายจนเสียชีวิต 162 ราย พิการ 9 ราย รวม 171 ราย ทั้ง ๆ ที่ครูคือผู้สร้างอนาคตของเด็กและเยาวชน รวมถึงการพัฒนาชุมชน ด้านการศึกษา คุณธรรม จริยธรรม และทักษะชีวิตในพื้นที่ แต่กลายเป็นเป้าหมายอ่อนแอที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย และไม่สามารถที่จะป้องกันตนเองได้ ทำให้ครูมีความยากลำบากในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ การใช้ชีวิตประจำวัน และการจัดการเรียนการสอน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและโอกาสทางการศึกษา
กระทรวงศึกษาธิการเสนอขอรับการช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เสียชีวิต 162 ราย ๆ ละ 4,000,000 บาท และคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 เห็นชอบสนับสนุนสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตย้อนหลังไปถึงวันที่ 1 มกราคม 2547 โดยให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสรรงบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยารายละไม่เกิน 4 ล้านบาท โดยให้หักลบจากเงินเยียวยาที่เคยได้รับไปแล้ว และให้กระทรวงศึกษาธิการจัดสวัสดิการด้านอื่น ๆ ให้ได้มาตรฐานใกล้เคียงกับส่วนราชการต่าง ๆ ด้วย
กระทรวงศึกษาธิการ ได้ดำเนินการติดตามเร่งรัดให้ความช่วยเหลือเยียวยาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตมาโดยตลอด โดยได้นำเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) และสำนักงบประมาณขอจัดตั้งงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษา
ต่อมากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการจ่ายเงินให้ผู้ได้รับผลกระทบได้ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 กระทรวงศึกษาธิการจึงออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้เสียชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รอบที่ 1 จำนวน 14 ราย เป็นเงิน 37,182,000 บาท
โดยรายแรกได้จัดพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่บิดามารดาของครูจูหลิง ปงกันมูล จำนวน 2,742,000 บาท เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 ณ หอประชุมโรงเรียนอนุบาลดอยหลวง อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย และในวันนี้ เป็นพิธีมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครูผู้เสียชีวิต จำนวน 13 ราย ซึ่งมีทายาทของผู้ชีวิตที่มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือเยียวยา จำนวน 39 ราย เป็นเงิน 34,440,000 บาท ณ ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นเกียรติในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งติดภารกิจต่างประเทศ เพื่อร่วมพิธีกล่าวสดุดียกย่องเชิดชูเกียรติ พร้อมมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาครูและบุคลากรทางการศึกษาจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 ทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเสียชีวิตและทุพพลภาพ ศธ.ได้ให้ความสำคัญการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เช่น การพัฒนาอาชีพแก่ผู้เรียนในพื้นที่ การจัดสรรทุนการศึกษาฝึกอาชีพต่อยอดอาชีวศึกษา โครงการอุดหนุนนักเรียนดีที่มีความสามารถ ถือเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่พยายามผลักดันสร้างโอกาสให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา นอกจากนี้ ศธ.เห็นว่าครูคือหัวใจสำคัญ เพราะเป็นผู้ถ่ายทอด ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ เพื่อสร้างอนาคตเยาวชนของชาติ เป็นผู้อุทิศตนให้แก่เด็ก ๆ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งเกิดสถานการณ์ ศธ.จึงได้เสนอขอรับการเยียวยาครูผู้ได้รับผบกระทบจำนวน 162 ราย ๆ ละไม่เกิน 4 ล้านบาท พร้อมมอบทุนการศึกษาให้แก่ทายาทให้มีโอกาสศึกษาต่อและพัฒนาอาชีพกว่า 5 พันรายในแต่ละปี
พิธีครั้งนี้มีผู้บริหาร เข้าร่วม อาทิ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ที่ปรึกษา รมว.ศธ., นายนิพนธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นายสุภัทรจำปาทองปลัด ศธ., นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการกอศ., นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ., นายพีรศักดิ์ รัตนะ เลขาธิการ กช., นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ. รวมทั้งคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการผู้บริหารส่วนราชการ ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครูในพื้นที่