ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวประดินันท์ สดีวงศ์) ตรวจราชการ โรงเรียนบ้านนาแพงโคกน้ำสร้าง อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร (24 ก.พ. 2563)
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.00 น. นางสาวประดินันท์ สดีวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ร้อยตรีพูนศักดิ์ พระรัตภูมี รองศึกษาธิการจังหวัด รักษาราชการในตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัดมุกดาหาร บุคลากรกลุ่มตรวจราชการและติดตามประเมินผล ศธภ.11 และคณะศึกษานิเทศก์จากสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมุกดาหาร ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการกรณีปกติ รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ณ โรงเรียนบ้านนาแพงโคกน้ำสร้าง จังหวัดมุกดาหาร โดยมี นายปิติณัช นิธิศธาณี นายอำเภอหว้านใหญ่ ดร.มารุต อุปนิสากร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหารและคณะ นายสำพันธ์ แก้วโรจน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาแพงโคกน้ำสร้าง คณะกรรมการสถานศึกษา คณะครูและนักเรียนให้การต้อนรับ
โรงเรียนบ้านนาแพงโคกน้ำสร้าง เปิดสอนในระดับอนุบาลปีที่ 2 ถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 122 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 13 คน ในการนี้ นางสาวประดินันท์ สดีวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เยี่ยมชมการจัดกิจกรรมของนักเรียน กิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน และรับฟังรายงานผลการดำเนินงานในภาพรวม ซึ่งพบว่า โรงเรียนได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้รูปแบบ “โมเดลการยกระดับคุณภาพผู้เรียนในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ของโรงเรียนบ้านนาแพงโคกน้ำสร้าง (NP Model)” ซึ่งช่วยยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของสถานศึกษาให้สูงขึ้น นักเรียนอ่านออกเขียนได้ กล้าแสดงออกโดยสามารถนำเสนอผลงานได้อย่างชัดเจน มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นผู้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ทั้งในและนอกห้องเรียน เช่น โครงงาน “กล่องนมคุณธรรม สานฝันเด็กดี นำวิถีพอเพียง” ที่ให้นักเรียนนำกล่องนมโรงเรียนมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ตะกร้า เสื่อ หมวก และกระเป๋า เป็นต้น ทำให้นักเรียนมีรายได้เสริมระหว่างเรียนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว และช่วยทำให้นักเรียนมีความรับผิดชอบ มีความซื่อสัตย์ รู้จักการประหยัดอดออม การอยู่อย่างพอเพียง มีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากยิ่งขึ้น ในการนี้ นางสาวประดินันท์ สดีวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แนะนำให้โรงเรียนประสานความร่วมมือกับท้องถิ่นและชุมชน ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของนักเรียนไปสู่การค้าขายและมีการนำไปใช้ในชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่นักเรียนต่อไป
ปัญหาที่พบ 1) โรงเรียนมีปัญหาการขาดแคลนสื่อ อุปกรณ์ และแหล่งเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับการจัดการศึกษาภายในโรงเรียน เช่น ห้องปฏิบัติการต่าง ๆ สนามเด็กเล่น และห้องสมุด ซึ่งโรงเรียนได้มีการดำเนินการเพื่อจัดหาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ 2) ท้องถิ่นมีความพร้อมสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษา แต่ติดเงื่อนไขที่กำหนดในการเบิกจ่ายต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณได้ และให้ข้อเสนอแนะว่า ควรมีการเจรจากันในระดับนโยบายระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน