กระทรวงศึกษาธิการ โดยกลุ่มตรวจสอบภายใน สป. จัดประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย เรื่อง การเพิ่มศักยภาพระบบตรวจสอบภายในของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลภายใต้การปฏิรูปการศึกษา วันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2560 ณ โรงแรมไมด้า แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ
นางบุปผา ชวะพงษ์ อดีตที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบงาน สำนักงานศาลปกครอง ประธานคณะกรรมการวิจัยฯ นำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง การเพิ่มศักยภาพระบบตรวจสอบภายในของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลภายใต้การปฏิรูปการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของระบบตรวจสอบภายในของ ศธ. ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อระบบการตรวจสอบภายในของ ศธ. และเสนอแนะแนวทางการเพิ่มศักยภาพระบบตรวจสอบภายในของ ศธ.เพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลภายใต้การปฏิรูปการศึกษาให้สอดคล้องสัมพันธ์กับโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน
กลุ่มตรวจสอบภายใน สป. มีความเห็นว่าปัจจัยในการสนับสนุนการปฏิบัติงานมากที่สุดคือ ความเป็นอิสระและเที่ยงธรรม ส่วนด้านการปฏิบัติงาน หากบุคลากรด้านการตรวจสอบภายในได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารให้ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบภายในเกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ขณะที่การที่ผู้ตรวจสอบภายในมีอำนาจหน้าที่และสายบังคับบัญชาที่สูงขึ้นจะส่งผลให้การปฏิบัติงานตรวจสอบได้รับความสำคัญจากผู้บริหารและได้รับความร่วมมือจากหน่วยรับตรวจ ตลอดจนนโยบายด้านการตรวจสอบภายในของผู้บริหารมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพและมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร ทั้งนี้ยังได้พบปัญหาด้านกรอบอัตรากำลัง คุณวุฒิของบุคลากรด้านการตรวจสอบภายใน และความก้าวหน้าในสายงานวิชาชีพที่ต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไขด้วย
นางนันทา อนะมาน หัวหน้ากลุ่มตรวจสอบภายในระดับกระทรวง ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความแตกต่างจากหน่วยงานอื่น เนื่องจากมีโครงสร้างใหญ่ ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระดับกระทรวง ลำดับสายบังคับบัญชาแยกส่วนกันและไม่ข้ามสายงานกัน จึงทำให้บางเรื่องส่งมาไม่ถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงมีข้อเสนอแนะให้รวมหน่วยงานตรวจสอบภายในขององค์กรหลักมาไว้ส่วนกลางแห่งเดียวและกำหนดให้สายการบังคับบัญชาของหน่วยงานตรวจสอบภายในขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบภายในมีอำนาจ มีอิสระ สอดคล้องกับการปฏิรูปและการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการ และเสนอประเด็นอัตรากำลังในปัจจุบัน ซึ่งไม่เต็มตามกรอบอัตรารากำลัง โดยมีเพียงหน่วยละ 1-2 คน โดยเฉพาะตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญ ควรมีในทุกองค์กรหลัก รวมทั้งเรื่องความก้าวหน้าในสายวิชาชีพควรมีความชัดเจนกว่าปัจจุบัน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ สร้างความน่าเชื่อถือ และความร่วมมือจากหน่วยรับตรวจ
นอกจากนี้หน่วยงานตรวจสอบภายในควรมีฐานข้อมูลกลางของหน่วยงานต่างๆ ทุกระดับใน ศธ. ให้สามารถนำมาใช้ได้ทันที และกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลจากหน่วยงานอื่น รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในและบุคลากรด้านงานสารสนเทศ เพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ปารัชญ์/สรุป
ธนภัทร/ภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.