นายพีระ รัตนวิจิตร เข้ารับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

 

     นายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และมอบนโยบาย เมื่อวันอังคารที่ 3 ตุลาคม 2560 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ

     นายพีระ กล่าวว่า ตนมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ โดยเฉพาะแผนการศึกษาชาติฉบับใหม่ 20 ปี ถือเป็นฉบับแรกที่มีระยะยาวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนการศึกษาชาติฉบับนี้ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 5 ประการที่ชัดเจนกว่าแผนอื่นๆ มาก มีตัวชี้วัดละเอียด ซึ่งหน่วยงานการศึกษาทุกหน่วยงานเมื่อประเมินตนเองนั้น สามารถตั้งมาเลยว่าการจัดการศึกษาบรรลุตามตัวชี้วัดในแต่ละเป้าหมายนั้นหรือยัง ถือว่าแผนฉบับใหม่นี้เป็นแนวทางที่เราสามารถยึดเป็นแนวในการดำเนินการจัดการศึกษา เช่น ตัวชี้วัดแรกที่ชัดเจนคือ เด็กอายุ 3-5 ปี ดูว่าสัดส่วนการเข้าเรียน เด็กกลุ่มนี้ของประชากรวัย 3-5 ปีเข้าเรียนได้เป็นร้อยละเท่าไหร่ เพื่อจะกำหนดเป้าหมายไว้ช่วงละ 5 ปี ใน 20 ปี เป็น 4 ช่วง เราสามารถดูว่าเราจัดแล้วบรรลุตามเป้าหมายนั้นหรือไม่ ทุกหน่วยต้องนำมาดูตัวเองทั้งระดับโรงเรียน จังหวัด ภาค และประเทศ จะเห็นภาพรวมของประเทศ เด็ก3-5 ปี เข้าเรียนต่อประชากรร้อยละเท่าไหร่ ถือว่าการปฏิรูปครั้งนี้มีพิมพ์เขียวในการจัดการศึกษาที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมและไม่ยุ่งยาก มีทุกระดับจนถึงมหาวิทยาลัย เช่น ระดับมหาวิทยาลัยก็มีการต้องเป้าให้ติดอันดับของโลก หากยังทำไม่ได้ ภายใน 20 ปีนี้ก็ต้องมาหาวิธีบรรลุเป้าหมายให้ได้ เพื่อสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ ซึ่งทุกระดับจะมีกำหนดไว้หมด ดังนั้นทิศทางการจัดการศึกษาในอนาคตนั้น ถ้าเรายึดแผนการศึกษาชาติจะมายากเลย ในนั้นจะมีรายละเอียด มีวิธีการ มีตัวอย่าง การดำเนินงานที่จะทำให้บรรลุตัวชี้วัดแต่ละเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน

     การทำงานศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัดต้องทำงานควบคู่กัน โดยเฉพาะศึกษาธิการจังหวัดมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องทำงานประสานการจัดการศึกษาของหน่วยงานต่างๆที่อยู่ในจังหวัดทุกสังกัด ทุกกระทรวง เพราะฉะนั้นจะไม่มีงานใดไปทับซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัดจะทำหน้าที่เชื่อมโยงการจัดการศึกษาทุกช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย เช่น จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเห็นชัดเจนว่าหากไม่มีศึกษาธิการจังหวัด การทำงานจะไม่เชื่อมโยงกัน โดยในพื้นที่ EEC มีการผลิตกำลังคน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม  มหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกมีประมาณ 10 แห่ง ซึ่งอาชีวศึกษามีการร่วมมือกันผลิตที่ดีมาก มีการแบ่งเจ้าภาพในการผลิตว่าแต่ละอุตสาหกรรมจะให้สถานศึกษาใดรับผิดชอบอย่างชัดเจน ปัจจุบันการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการ EECพยายามผลักดันให้อาชีวศึกษากับมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกัน ให้เด็กเรียนอาชีวะแล้วสามารถศึกษาต่อระดับปริญญาได้ หากอาชีวศึกษาเปิดสาขาโรบอติก มหาวิทยาลัยก็ต้องเปิดสาขาเดียวกันเพื่อรองรับในระดับปริญญาด้วย

     ขณะเดียวกันระดับมัธยมศึกษาต้องปรับแผนการศึกษาใหม่ให้เหมาะสมกับกลุ่มอาชีพ ตลอดจนเตรียมความพร้อมสร้างความคุ้นเคย ปูพื้นฐานอาชีพ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมในเด็กระดับประถมศึกษาสอดคล้องกันต่อไป รวมถึงการพัฒนาผู้สูงวัยให้ทำงานในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมให้เหมาะสมสอดคล้องกับพื้นฐานแต่ละคน จะเห็นว่าไม่มีงานใดที่ทับซ้อนกับเขตพื้นที่การศึกษาเลย เป็นการจัดการศึกษาที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วน ซึ่งตนในฐานะรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยินดีรับใช้ทำหน้าที่เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยหวังผลที่คุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังเชื่อในความสามารถของทุกท่านว่าจะร่วมกันจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ

         

          ปารัชญ์/สรุป

ธเนศ, กิตติกร,ธนภัทร/ภาพ

กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.