17 กรกฎาคม 2566 / นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา เพื่อเป็นกรอบทิศทางข้อตกลงร่วมของนักเรียน ครู และผู้ปกครองภายในสถานศึกษา ในการสร้างสุขภาพทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม ให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาและชุมชน ตามกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ณ ห้องราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ซึ่งการพัฒนาศักยภาพเยาวชนนั้น เก่งและดียังไม่เพียงพอ ต้องมีสุขภาพที่ดีด้วย
จึงได้มีการลงนามบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา โดยเป้าหมายสำคัญที่ ศธ.มุ่งหวังคือให้ทุกสถานศึกษาทั่วประเทศมีธรรมนูญสุขภาพของตนเอง ซึ่งจะดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกันทั้งสถานศึกษา สมาคมผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงานรัฐ และหน่วยงานเอกชน ทำให้ผู้เรียนของเราทั้งในระบบและนอกระบบทุกระดับชั้น จำนวน 10,516,125 คน (ปีการศึกษา 2565) ได้รับการดูแลสุขภาพที่ดี มีความรอบรู้ มีทักษะ และมีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ส่วนสถานศึกษาก็จะมีสภาพแวดล้อมที่มีสุขภาวะชัดเจนมากขึ้น สมดังเจตนารมณ์ของกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565
“บทบาทของ ศธ.จะดำเนินการนำเป้าหมายและมาตรการของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 ไปใช้เป็นกรอบทิศทาง นโยบายด้านสุขภาพของ ศธ. เน้นแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ หรือ Health in All Policies (HiAP) มีการส่งเสริมกระบวนการพัฒนาให้ผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครองมีความรอบรู้ มีทักษะ และมีพฤติกรรมพึงประสงค์ด้านสุขภาพ โดยบูรณาการกับการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งสนับสนุนให้สถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัด จัดทำธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษาร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ขยายผลออกไปในวงกว้างจากนักเรียนไปสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคมของตนเองให้ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพในทุกมิติ” ปลัด ศธ. กล่าว
เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า เด็ก เยาวชน และสถานศึกษา เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนไทยให้มีความพร้อมทั้งกาย จิตใจ สติปัญญา และมีสุขภาพที่ดี ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพื่อเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี มีคุณภาพตามทิศทางการพัฒนาประเทศ
ซึ่งภายใต้กรอบของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การทำสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในทุกกลุ่มวัยและทุกระดับ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายระบบสุขภาพและสังคมที่เป็นธรรม
“ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 จะสามารถส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อจัดทำธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา เป็นกรอบและทิศทางในการสร้างสุขภาวะภายในโรงเรียน เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการด้านอาหารและเครื่องดื่ม และการจัดการระบบดูแลสุขภาพของนักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน ใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารให้คนในสังคมเข้าใจกรอบและแนวทางของระบบสุขภาพไทย ตลอดจนใช้อ้างอิงเพื่อพัฒนาตัวชี้วัดระบบสุขภาพไทยด้วย” นพ.ประทีป กล่าว
พิธีลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีผู้บริหารทุกองค์กรหลักของ ศธ. เข้าร่วม อาทิ นายปรีดี ภูสีน้ำ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการ ศธ., นายสุรศักดิ์ อินศรีไกร ผู้ตรวจราชการ ศธ., เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายสวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา, นายคมกฤช จันทร์ขจร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้, นายชูชีพ อรุณเหลือง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, นางรัตนา แสงบัวเผื่อน ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รักษาการด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้), นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงทั้งสองหน่วยงาน
กลุ่มสารนิเทศ – ข่าว/ภาพ