ซีรีส์นี้จะนำเสนอเรื่องราวที่กำลังเป็นที่สนใจและได้รับความนิยมซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Chisounomori ที่นำเสนอข้อมูลของสถาบันวิจัยฟูจิตสึ เรื่องที่เก้ามีชื่อว่า “ทักษะการเอาตัวรอดในยุค AI”
“ยุค AI” หมายถึงยุคที่มนุษย์เราอยู่ร่วมกับ AI ได้โดยไม่หวาดกลัวหรือตกเป็นเบี้ยล่างของ AI การจะเป็นเช่นนี้ได้ เราต้องพัฒนาทักษะการเอาตัวรอดในยุคนี้เสียก่อน แต่ทักษะที่ว่านี้ มีอะไรบ้างล่ะ? บทความนี้จะแจกแจงถึงทักษะที่เราต้องมีในยุค AI จากทัศนะของผู้เขียน
“ยุค AI” หมายถึงยุคที่มนุษย์เราอยู่ร่วมกับ AI ได้โดยไม่หวาดกลัวหรือตกเป็นเบี้ยล่างของ AI การจะเป็นเช่นนี้ได้ เราต้องพัฒนาทักษะการเอาตัวรอดในยุคนี้เสียก่อน แต่ทักษะที่ว่านี้มีอะไรบ้างล่ะ? บทความนี้จะแจกแจงถึงทักษะที่เราต้องมีในยุค AI จากทัศนะของผู้เขียน
คอมพิวเตอร์จะมาแทนที่เราจริงหรือ?
หลักสูตรใหม่ของญี่ปุ่นสำหรับปี 2020 และปีต่อๆ ไปได้กำหนดให้มีการสอนการเขียนโปรแกรมแก่เด็กชั้นประถมศึกษาด้วย ตามที่กระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ MEXT ได้กล่าวไว้ว่า “จุดประสงค์ของหลักสูตรก็คือพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีตรรกะ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และจริงๆ แล้วเป็นทักษะที่ไม่ล้าสมัย ทั้งยังใช้ได้กับหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าเด็กๆ จะเติบโตไปประกอบอาชีพอะไรก็ตาม”
เพื่อให้เข้าใจง่าย ผมขออ้างคำกล่าวของคุณโทโมโกะ นัมบะ ** ผู้ก่อตั้งบริษัทเกม DeNA และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่เคยกล่าวไว้ว่า “การพัฒนาด้าน AI ว่ากันว่าจะทำให้เกิดการแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วย AI หรือหุ่นยนต์มากถึง 49% ในอนาคต เราจะสูญเสียอาชีพปัจจุบันไปเกือบครึ่ง ใครก็ตามที่ไม่อยาก “ถูกคอมพิวเตอร์ใช้” ก็ควรต้องเริ่มเรียนตั้งแต่เด็กๆ แล้วว่าจะใช้งานคอมพิวเตอร์ (เขียนชุดคำสั่ง) อย่างไร และการสอนเขียนโปรแกรมก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ในเรื่องนั้นขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่ารัฐบาลอยากให้เด็ก ๆ ทุกคนกลายมาเป็นนักโปรแกรมเมอร์ แต่รัฐบาลต้องการให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะที่จะทำให้พวกเขาเป็นผู้ออกคำสั่ง ไม่ใช่รับคำสั่งจากคอมพิวเตอร์”
ในเดือนมีนาคม ปี 2016 โปรแกรม AlphaGo ที่พัฒนาโดย Google ทำให้โลกต้องตะลึงด้วยการคว่ำแชมป์เกมโกะ อย่างคุณ ลี เซดอล ชาวเกาหลีได้ถึง 4-1 ส่วนในเกมโชงิหรือหมากรุกญี่ปุ่นนั้น เราก็เพิ่งจะเห็นอดีตแชมป์ คูนิโอะ โยเนะนากะ ปรมาจารย์ด้านโชงิเสียท่าให้กับโปรแกรมนักเล่นโชงิอย่าง Bonkras ไปอย่างสูสี *** ตอนนี้คอมพิวเตอร์เอาชนะมนุษย์ได้แล้วทั้งในเกมโกะและโชงิ ขณะที่มีการโต้เถียงมากมายเกี่ยวกับเอกภาวะทางเทคโนโลยี ผมรู้สึกว่าสักวัน ปัญญาประดิษฐ์จะต้องก้าวข้ามปัญญามนุษย์ไปได้อย่างง่ายดายเป็นแน่
ดังนั้นเราจึงกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องเร่งสร้างความสัมพันธ์แบบใหม่กับคอมพิวเตอร์ได้แล้ว แล้วทักษะไหนบ้างล่ะที่เรา โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวและเด็กๆ ผู้จะเป็นผู้นำรุ่นต่อไปจะต้องมีในยุคนี้?
ทักษะใดที่เราควรพัฒนา?
รองศาสตราจารย์ไมเคิล ออสบอร์น จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ชี้ให้เห็นว่า “นักพิมพ์ดีดถูกแทนที่ด้วยโปรแกรมเอกสารไปแล้ว พนักงานรับจ่ายเงินในธนาคารก็ถูกแทนที่ด้วยเอทีเอ็ม อาชีพที่จะอยู่รอดไปในอนาคตเห็นทีจะเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะสังคม” และ “สิ่งสำคัญก็คือเราต้องไม่ทำเหมือนว่า AI เป็นภัยคุกคาม แต่ควรจะคิดหาวิธีใช้งานและทำงานร่ววมกับ AI มากกว่า” **** ผมเชื่อว่าความเห็นของเขาสะท้อนความคิดของนักวิชาการอีกหลายท่านในสมัยนี้ เมื่อเราพูดถึงการแบ่งประเภทแรงงาน เราควรจะปล่อยให้งานที่น่าเบื่อจำเจ ไม่ซับซ้อนให้เป็นหน้าที่ของ AI แล้วมุ่งสนใจงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ซึ่ง (คาดกันว่า) AI จะไม่ค่อยถนัดนัก
แล้วความคิดสร้างสรรค์อะไรบ้างล่ะที่คนมีแต่คอมพิวเตอร์ขาด? ผมวิเคราะห์แนวคิดนี้จากทัศนะของตัวเอง และได้ความคิดหลักๆ ออกมาสามอย่าง ก็คือ ความคิดใหม่ๆ การมีไหวพริบ และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ความคิดใหม่ ๆ
พูดอย่างง่ายๆ ความคิดใหม่ๆ ก็คือความคิดที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน
AI ฉลาดก็จริง แต่ก็ยังเรียนรู้ได้เฉพาะจากข้อมูลที่มีเท่านั้น ถ้าข้อมูล เช่น บันทึกการแข่งขันโกะหรือโชงินับล้านๆ ครั้งมีอยู่แล้วถูกป้อนให้ AI เรียนรู้ AI ก็จะมีประสบการณ์การเดินหมากนับล้านครั้งอยู่กับตัวในชั่วพริบตาอย่างที่มนุษย์เราไม่มีวันทำได้ ก่อนที่เราจะทันรู้ตัว AI ก็ก้าวนำเราซึ่งเรียนรู้จากการรู้แบบเก่าๆ เป็นปีๆ ดังนั้นเราจึงสรุปได้ว่า AI จะเป็นผู้เล่นมือฉกาจในเกมแบบนี้
แต่ถึงอย่างนั้น AI ก็ยังสับสนได้เมื่อพบการเดินหมากที่ไม่เคยมีมาก่อน อดีตปรมาจารย์ คูนิโอะ โยเนะนากะ เป็นผู้เล่นที่ต่อสู้ด้วยวิธีแบบนั้น แม้ว่าท่านจะแพ้การแข่งขัน แต่ก็แพ้เพราะต้องสู้กับการตัดสินใจ และการกระทำ (ความเคลื่อนไหว) ที่เกิดขึ้นโดยชุดคำสั่งสองมิติ ซึ่งทำงานภายใต้กติกาของเกมโชงิ
ในชีวิตประจำวันและการทำงาน การดำเนินชีวิตต่างๆ ที่สลับซับซ้อนในหลายมิติ ถ้าการตัดสินใจและการกระทำ (ความเคลื่อนไหว) เป็นรูปแบบเดิมเสมอๆ ไม่เปลี่ยนไปเลย AI ก็จะเรียนรู้ได้ แต่ถ้า AI ต้องพบกับความคิดที่ไม่เคยมีมาก่อน (และความเคลื่อนไหวที่เกิดจากความคิดเหล่านั้นผสมผสานกัน) การจะก้าวข้ามเรื่องนี้ไป (การเอาชนะในการแข่งขัน) ก็ยากอยู่สักหน่อย ความสามารถนี้เองที่มนุษย์ต้องมี คนที่นำเสนอสิ่งใหม่ๆ ในการทำงานจะเป็นบุคลากรที่มีค่า หรือถ้าให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้น การมีความคิดนอกกรอบ มีความคิดหรือมุมมองที่แหวกแนว จะกลายเป็นทักษะสำคัญ พูดอีกอย่างก็คือนี่เป็นทักษะที่ทำให้เรามีคำพูดที่ว่า “ไม่รู้ไปขุดเอาไอเดียนี้มาจากเรื่องนั้นได้อย่างไร” ซึ่งนี่เป็นทักษะของมนุษย์
ดังนั้นเราจึงต้องนำตัวเองเข้าไปสำรวจสิ่งใหม่ๆ ที่เรายังไม่มีข้อมูลและพัฒนาตัวเอง สิ่งที่เราต้องพัฒนาก็คือความสามารถในการสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้รับมือหรือสร้างสิ่งที่เราไม่เคยรู้จักขึ้นมาได้ สิ่งที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นประดิษฐกรรมหรือนวัตกรรมชิ้นเอก เพียงแค่พยายามทำให้เกิดการคิดใหม่ทำใหม่ในโรงเรียนหรือที่ทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันก็ถือเป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ได้แล้ว
การมีไหวพริบ
เราทุกคนรู้กันดีว่ามีการวิจัยเพื่อจะสร้างอารมณ์ความรู้สึกให้หุ่นยนต์มานานแล้ว ตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ Pepper ***** AI ที่พัฒนาโดย SoftBank ซึ่งสามารถแสดงอารมณ์ได้ เช่น เขิน ว้าวุ่นใจ แถมยังชอบให้คนทำตัวดีกับมันด้วย SoftBank อ้างว่า Pepper มีความรู้สึกจริง และยังบอกอีกด้วยว่าเป็นความรู้สึกที่มีลักษณะเฉพาะตัวอีกต่างหาก การแสดงอารมณ์ของ Pepper มาจากการตั้งโปรแกรมเอาไว้ ยังไม่สามารถตอบโต้ต่อสิ่งต่างๆ หรือสถานการณ์ต่างๆ ตามหลักจิตวิทยาได้และยังไม่มีไหวพริบ****** อย่างที่มนุษย์มี ซึ่งผมเชื่อว่าไหวพริบที่ยอดเยี่ยมนี้เป็นองค์ประกอบที่ไม่มีวันหมดไปในตัวมนุษย์ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความคิดสร้างสรรค์
การพัฒนาหุ่นยนต์ Painting Fool ซึ่งระบายสีตาม ‘ความรู้สึก’ กำลังตามมา หุ่นยนต์ตัวนี้สามารถสร้างภาพศิลปะที่สวยงามได้ราวกับคนที่มีเซนส์ศิลปะยอดเยี่ยม แต่บางครั้งมันก็สร้างงานที่ไม่ได้สวยอะไรมากนัก ออกมาบ้างเหมือนกัน ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้บางคนเชื่อว่า AI กำลังจะมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม AI ในตอนนี้ยังไม่สามารถสร้างงานศิลป์รูปแบบใหม่ขึ้นมาได้ อย่างที่ปิกัสโซ่เคยทำ ภาพวาดของปิกัสโซ่ซึ่งกล่าวกันว่ายอดเยี่ยมนั้นไม่ได้มาจากฝีมือการวาดรูปเหมือนจริงแต่มาจากการวาดภาพที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ซึ่งเรียกว่าศิลปะแบบคิวบิสม์ การสร้างสรรค์และแสดงรูปแบบใหม่ๆ เป็นผลมาจาก
ไหวพริบและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะทำได้ ไหวพริบนั้นสามารถประยุกต์ใช้ได้กับหลายสาขา ไม่เฉพาะแต่ด้านศิลปะ หากไม่มีไหวพริบแล้ว การเติบโตทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดดก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย
การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
มนุษย์ไม่อาจอยู่ได้โดยไม่ปฏิสัมพันธ์กับใครเลย การติดต่อสื่อสารกันนั้นทำให้เกิดค่านิยมความคิดใหม่ๆ การปฏิสัมพันธ์ทำให้เราได้คิดมากขึ้น ทำมากขึ้น ผู้อื่นสามารถกระตุ้นให้เราสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ มากมาย การใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียทำให้เราได้มีโอกาสพบปะผู้คนและขยายขอบเขตความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของเรามากขึ้น เมื่อถูกกระตุ้นจากคนรอบข้าง ความสามารถที่เราแสดงออกมานั้นไม่อาจทดแทนหรือนำไปเทียบเคียงกับคอมพิวเตอร์ได้ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกันเป็นการกระทำที่เกิดจากความสัมพันธ์ของผู้คนและเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์สังคม มนุษย์จะวิวัฒน์ไปพร้อมกับการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์และผู้คนได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อให้เข้าใจ ผมจะขอยกตัวอย่างเช่นวิกิพีเดียที่เปิดให้เราเข้าไปค้นข้อมูลหรือเติมข้อมูลได้ ส่วน GitHub ก็ช่วยพัฒนาโปรแกรมต่างๆ การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างมีชั้นเชิงเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์และทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
ตามหาความเป็นมนุษย์
จนถึงตอนนี้ ผมได้กล่าวถึงการเอาตัวรอดในยุค AI โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้ความคิดซึ่งเป็นกิจกรรมทางสมอง อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เราต้องใส่ใจด้วย ก็คือสุขภาพและความแข็งแรง กลับไปที่หลักสูตรชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของ MEXT กันดีกว่า แนวหลักสูตรนี้เน้นเรื่อง “ความกระหายที่จะมีชีวิต” คำนี้ ในความหมายของ MEXT ประกอบด้วยการมีความเป็นเลิศด้านวิชาการ รอบรู้ และมีสุขภาพแข็งแรง ******* แม้ว่าคำเหล่านี้จะเป็นคำในตำราเรียน แต่ผมก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ในเรื่องความสำคัญของร่างกายที่แข็งแรง ความคิดสร้างสรรค์ การมีไหวพริบ และการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนซึ่งผมได้กล่าวไปทั้งหมดนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่อเรามีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์จะไปมีประสบการณ์ทางกายแบบเราได้อย่างไร ทั้งความรู้สึกที่ได้รับการเติมเต็ม ความขาดแคลน เจ็บป่วย และแม้แต่ความมั่นคงหรือไม่มั่นคงทางจิตใจซึ่งก่อเกิดเป็นความรู้ในระดับที่เรามีอยู่ตอนนี้ คำถามเหล่านี้จะไปมีความหมายกับคอมพิวเตอร์ที่ไม่มีชีวิตจิตใจได้อย่างไร ********?
พฤติกรรมของมนุษย์เป็นวงจรซ้ำๆ ที่วนเวียนอยู่กับการรับและประมวลข้อมูล จากนั้นจึงทำตามที่ได้ประเมินข้อมูล การตัดสินใจนั้นมาจากเหตุผล ซึ่ง AI ก็ได้รับการประเมินข้อมูล ปฏิบัติตามนั้นเช่นเดียวกับเรา แต่ต่างกันตรงที่เหตุผลในการตัดสินใจ ความต่างนั้นก็มาจากความคิดสร้างสรรค์ การมีไหวพริบ และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดังที่ได้กล่าวข้างต้นนั่นเอง ปัจจัยเหล่านี้รวมไปถึงการประมวลผลที่ซับซ้อนในสมองมนุษย์ (หรือ “มนุษยชาติ”) และการมีวงจรความคิดแบบนั้นก็ลึกซึ้งและไร้เหตุผลเกินกว่าที่ AI จะตามได้ทัน มนุษย์เราจึงควรหมั่นพัฒนาวงจรความคิดนี้ให้ก้าวหน้าต่อไป
บทสรุป: ยุคที่มนุษย์อยู่ร่วมกับ AI
อย่างที่ผมได้กล่าวไปในตอนต้นของบทความ นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่าหากเราปรับตัวโดยมุ่งเน้นไปยังโอกาสที่มีความเปลี่ยนแปลงมอบให้จะดีกว่าการเน้นในสิ่งที่จะถูกแทนที่ ทั้งนี้การคิดหาวิธีใช้เทคโนโลยีก็เป็นเรื่องสำคัญ นี่เป็นมุมมองที่เราควรใช้เวลามองไปถึงยุค AI ในหนังสือ The Second Machine Age ที่เพิ่งตีพิมพ์ไป ********* อีริก บรินจอปสัน ซึ่งเป็นผู้เขียนกล่าวว่า “คอมพิวเตอร์จะก้าวข้ามขีดจำกัดของปัญญามนุษย์และพามนุษยชาติไปสู่สิ่งใหม่ๆ แน่นอน เพียงแต่เรายังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ ที่ไหนเท่านั้น” ผมเองก็เห็นด้วย สิ่งที่เรารู้แล้วก็คือยุคของ AI คือยุคที่เราจะอยู่ร่วมกับ AI โดยไม่กลัวและไม่ตกเป็นเบี้ยล่าง เช่นนั้นแล้วเราก็ควรพัฒนาตัวเองเพื่อให้อยู่รอดในยุคสมัยนั้น ในสามสิบปีที่ผ่านมา การฝึกฝนร่างกายได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จากที่เคยออกกำลังกายด้วยท่าวิ่งกระโดดแบบ Bunny Hop ตอนนี้เราหันมาพัฒนาากล้ามเนื้อ ฉันใดก็ฉันนั้น การฝึกสมองก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง และมนุษย์เราก็ควรรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยความยินดี
*: อ้างอิงจาก เว็บไซต์ของ MEXT (การสอนเขียนโปรแกรมในชั้นประถม (สรุปการหารือ))
http://www.mext.go.jp/b_menu/shingi/chousa/shotou/122/houkoku/1372522.htm
**: อ้างอิงจาก สุนทรพจน์ของคุณ โทโมโกะ นัมบะ (ที่ Educational IT Solution EXPO ณ Tokyo Big Sight วันที่ 18 พฤษภาคม 2016)
***: Yonenaga, K. (2012). Ware Yaburetari ~ Kompyu-ta Kisen no Subete wo Kataru [I lost–Everything about the Computer Shogi Match]. Chuokoron-Shinsha
****: อ้างอิงจาก ความคิดเห็นที่ตีพิมพ์ลงใน Asahi World Forum 2016, บทความพิเศษ Asahi Shimbun , 26 ตุลาคม 2016
*****: อ้างอิงจาก ข้อมูลสินค้าของ SoftBank (อารมณ์ของ Pepper)
http://www.softbank.jp/robot/consumer/products/emotion/
******: ความหมายแรกของคำว่า เห็นอกเห็นใจ ในพจนานุกรม Daijirin (พจนานุกรมญี่ปุ่น): ความสามารถในการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ตามหลักจิตวิทยา
*******: อ้างอิงจาก เว็บไซต์ของ MEXT (บทที่ 2 For Better Elementary and Junior High School Education, Part II, 2007, White Paper on Education, Culture, Sports, Science and Technology)
http://www.mext.go.jp/b_menu/hakusho/html/hpab200701/002/002/002.htm
********: ตัวอย่างเช่น คุณยูทากะ มัตสึโอะ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ระดับท็อปของประเทศญี่ปุ่นคนหนึ่ง และรองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโตเกียว เคยเตือนเราว่าอย่าสับสนระหว่างคำว่า “ชีวิต” ซึ่งหมายถึงการต้องการอยู่รอดและแพร่ขยายเผ่าพันธุ์ กับคำว่า “ความสามารถทางสติปัญญา” ซึ่งจะแสดงออกมาสูงสุดเมื่อมีเป้าหมายให้ไปให้ถึง (E-Ai ni Ubawareru Shigoto [Work to be Taken Over by AI in the Future]. ฉบับพิเศษ, AERA. 15 มิถุนายน 2015. สำนักพิมพ์ Asahi Shimbun Publications). คำถามในบทความนี้เกี่ยวข้องกับการสับสนระหว่างสองสิ่งนี้
*********: Brynjolfsson, E., et al. (2016). The Second Machine Age. Nikkei Business Publications.
ที่มา : http://www.fujitsu.com/th/th/about/resources/featurestories/2017072801.html