8 มิถุนายน 2566 ที่โรงเรียนพัทลุง จังหวัดพัทลุง / นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ของส่วนราชการการศึกษาในจังหวัดพัทลุง โดยมีนายก้องสกุล จันทราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง, นายภูธร จันทะหงษ์ ปุญยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการการศึกษาจังหวัดพัทลุง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และสตูล ร่วมประชุมถอดบทเรียนการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพจังหวัดพัทลุง และเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนพัทลุง
รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.พยายามกระจายงานการศึกษาลงสู่ภูมิภาคมากที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การบริหารการศึกษาจะกระจุกอยู่เฉพาะส่วนกลางไม่ได้ กว่า 2 ปีที่ตนได้เข้ามาทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตรงกับช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( โควิด 19) ทำให้เกิดปัญหาเด็กออกกลางคัน ดังนั้น นโยบายแรก ๆ ที่ได้ทำคือ โครงการพาน้องกลับมาเรียน จึงขอฝากเขตพื้นที่ฯ ช่วยติดตามน้อง ๆ โดยสร้างความเชื่อมโยงกับเครือข่ายในระบบการศึกษา มีเป้าหมายคือการพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้มากที่สุด
“เรื่องที่ต้องดำเนินการสานต่อจากนี้ คือ การสร้างโอกาสทางการศึกษา จากโครงการพาน้องกลับมาเรียน ค้นหา ติดตามเด็กตกหล่นและออกกลางคันกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แล้วประสานเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ทั้ง สพฐ. ศึกษาธิการจังหวัด อาชีวศึกษา และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน และมีกระบวนการป้องกันการหลุดออกจากระบบ และเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา ก็ถือเป็นภารกิจลำดับต้น โดยนําระบบมาตรฐานความปลอดภัย MOE Safety Center มาปฏิบัติอย่างเข้มข้น ตามหลัก 3 ป. ได้แก่ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม เพื่อสร้างความปลอดภัยของนักศึกษา ครู และบุคลากร โดยเฉพาะการป้องกันเหตุร้ายจากภัยยาเสพติด และอาวุธต่าง ๆ เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครองของผู้เรียน ให้มีความไว้วางใจในการนำผู้เรียนมาอยู่ภายใต้การดูแลของเรา ถ้าหากเกิดเหตุขึ้นในสถานศึกษา ต้องเร่งแก้ไขให้ลุล่วงอย่างรวดเร็ว รวมถึงแจ้งผลการดำเนินงานผ่านระบบ MOE Safety Center ของ ศธ. ด้วย” นางสาวตรีนุช กล่าว
สำหรับเรื่องโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนคุณภาพนั้น ในมิติการบริหารการศึกษา อัตราการเกิดของประชากรมีแนวโน้มลดลง จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดเชิงงบประมาณของประเทศ ที่เป็นความท้าทายในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ ทั่วถึงและเท่าเทียม
ทั้งนี้ ศธ. อาจเป็นกระทรวงต้นๆ ที่ได้รับงบประมาณจำนวนมาก แต่งบฯ กว่าร้อยละ 80 เป็นเงินเดือนบุคลากร การส่งงบฯ ไปพัฒนาด้านกายภาพของสถานศึกษาจึงเป็นเรื่องยาก ดังนั้น การพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่ง ศธ.ได้พยายามคลี่คลายปัญหาอุปสรรคการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียน 61-119 คน จำนวน 7,969 โรงเรียน ในจำนวนนี้ ไม่มีผู้อำนวยการอยู่ 1,760 โรงเรียน ศธ.ก็ได้ผลักดัน จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ให้โรงเรียนกลุ่มนี้ มีผู้อำนวยการโรงเรียนโดยเร็วที่สุดแล้ว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพิ่มค่าอาหารกลางวันให้ด้วย และจากการลงพื้นที่ทั่วประเทศ ก็พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ โดยใช้แนวทางโรงเรียนคุณภาพ มีการนำนักเรียนมาเรียนรวม มีการจัดแผนงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่จากการรับฟังรายงานในวันนี้ก็พบว่า โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งในพัทลุง สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ พัฒนานักเรียนให้มีทักษะวิชาการ มีวิชาชีพ ได้รับการยอมรับและความร่วมมืออย่างดียิ่งจากชุมชน ได้รับรางวัลคุณภาพระดับประเทศ
ดังนั้น ขอให้เขตพื้นที่ศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัดถอดบทเรียนวิธีการดำเนินงานของผู้บริหาร และคณะครูของโรงเรียนขนาดเล็กกลุ่มนี้ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กอื่น ๆ ต่อไป