“คุณหญิงกัลยา” ย้ำศึกษาธิการภาค/จังหวัด เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการศึกษาของไทย ในระดับภูมิภาค

รมช.ศธ. “คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช” ย้ำศึกษาธิการภาคและศึกษาธิการจังหวัด เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในระดับภูมิภาค ขอให้นำระบบดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ให้มีระบบบริหารจัดการที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพ ยึดหลักธรรมาภิบาล หาจุดแข็งเพื่อสร้างกลไกบริหาร และการประสานงานการจัดการศึกษา กับส่วนกลางและในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนการศึกษาสร้างคน ให้คนสร้างชาติ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ / คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดโครงการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารการศึกษาของประเทศไทย ในระดับภูมิภาค โดยมี นายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, ผู้บริหารระดับสูง ศธ., ศึกษาธิการภาค 1-18 และศึกษาธิการจังหวัด 77 แห่ง เข้าร่วมกว่า 320 คน

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. กล่าวว่า ศธ.บริหารจัดการศึกษาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ภายในปี 2570 ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม มีทักษะที่จำเป็น พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับตัวสอดคล้องกับวิถีชีวิตโลกยุคใหม่” ซึ่งการที่จะทำให้ภารกิจดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จตามภารกิจได้นั้น ก็ด้วยความเข้มแข็ง รวมถึงการบูรณาการทำงานของหน่วยงานปฏิบัติทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาภารกิจด้านการศึกษา ให้สามารถเข้าถึงผู้เรียนได้โดยตรง

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ. ในภูมิภาค ใช้กลไกการบริหารและการจัดการศึกษาผ่านสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 18 แห่ง และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) 77 แห่ง โดยเป็นหน่วยงานหลักที่เชื่อมโยงกับการทำงานของหน่วยงานการศึกษาในระดับพื้นที่ เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม สอดประสานการทำงานร่วมกันในเชิงระบบแบบสร้างสรรค์ในพื้นที่ทั้งระดับภาคและระดับจังหวัด โดยใช้กลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) โดยมองไปที่เป้าหมาย “คุณภาพผู้เรียน” เป็นหลัก เน้นบูรณาการการเรียนการสอนแบบ Active Learning และการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนแต่ละด้านอาจแตกต่างกันได้ตามสภาพแต่ละพื้นที่ หรือเปรียบเสมือนที่เราต้องตัดเสื้อสูทเข้ารูปที่เหมาะสมให้ เด็กถนัดกีฬา ก็ส่งเสริมเรื่องกีฬา, ถนัดศิลปะ ก็เน้นส่งเสริมศิลปะ ไม่เน้นแต่ด้านวิชาการให้เด็กอย่างเดียวอีกต่อไป

รมช.ศธ. กล่าวด้วยว่า ขอให้ ศธภ./ศธจ. นำระบบดิจิทัลต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้ในหน่วยงานให้มีระบบบริหารจัดการที่คล่องตัว มีประสิทธิภาพ ยึดหลักธรรมาภิบาล หาจุดแข็งเพื่อสร้างกลไกบริหารและการประสานงานการจัดการศึกษากับส่วนกลางและในพื้นที่ บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด จัดทำนโยบาย แผน มาตรฐานและการติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาที่หน่วยปฏิบัติสามารถนำไปบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกส่วนที่สำคัญมากคือ ฐานข้อมูล สามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลส่วนกลาง และอื่นๆ ได้อย่างดี รวมทั้งเว็บไซต์หลักของหน่วยงานต้องทันสมัย น่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลของหน่วยงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ฝาก ศธภ./ศธจ. ยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ 4 อย่าง คือ 1. เรียนให้สนุก เพราะฉะนั้นการสอนต้องสนุก ระหว่างเรียนมีรายได้ ขีดเส้นใต้คำว่ามีรายได้ ทำอย่างไรจึงจะมีรายได้ 2. เรียนจบมีงานทำ 3. เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทันสมัย แข่งขันได้ และ 4. มีคุณภาพชีวิตที่ดี และต้องเป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ช่วยขับเคลื่อนในโรงเรียนและสถานศึกษาของภูมิภาค เพราะในที่สุดแล้วการศึกษาคือความมั่นคงของชีวิต ของครอบครัว และที่สำคัญการศึกษาคือความมั่นคงของประเทศชาติ

“ขอขอบคุณผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทุกระดับที่ได้จัดการประชุมในครั้งนี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะได้ทบทวน ปรับปรุง ออกแบบแผนการดำเนินงาน กลไก เทคนิค รูปแบบการบริหารจัดการศึกษา รวมทั้งเตรียมการขับเคลื่อนชุดโครงการสำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้ตอบสนองต่อเป้าหมายของชาติและแผนพัฒนาพื้นที่ภายใต้บริบทของแต่ละพื้นที่ เป็นการสร้างแรงกระตุ้นในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพในทุกมิติ นำพาประเทศไปสู่อนาคตที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนต่อไป” รมช.ศธ. กล่าว

 

นายอรรถพล สังขวาสี ปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ศธ.ในยุคปัจจุบัน ต้องพยายามผลักดันให้ภาคสังคม ซึ่งหมายรวมถึง พรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใหม่ เห็นถึงความสำคัญของ ศธภ./ศธจ. เพราะจะส่งผลต่องบประมาณการจัดการศึกษาที่จะได้รับ ซึ่งหลังจากได้รัฐบาลใหม่ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนงบประมาณ ให้เข้ากับนโยบายของรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ด้านสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการศึกษาในระดับภูมิภาค และการส่งเสริมการพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของประเทศในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ให้สอดคล้องตามบริบทของพื้นที่ ส่งเสริมการมีสำนึกพลเมือง รักในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชากรทุกช่วงวัยเข้าถึงโอกาสในการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างความเสมอภาคด้านการศึกษาแก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย พัฒนาศักยภาพตามความสามารถและความถนัดของผู้เรียน สู่สังคมแห่งการเรียนรู้ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนความผันผวน ซับซ้อน ที่กำลังปรับเปลี่ยนจากยุค VUCA World เข้าสู่ยุค BANI World (VUCA World+Digital Disruption+โลกอุบัติภัยใหม่ ๆ) ที่มีความเปราะบาง ความไม่แน่นอน เพื่อขับเคลื่อนกลไกการบริหารและการจัดการศึกษาแบบบูรณาการและการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่ ในการยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาทุกระดับ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของประเทศด้านการศึกษาและการพัฒนาตามบริบทของพื้นที่

ปลัด ศธ. กล่าวด้วยว่า เทรนด์การศึกษาในปัจจุบัน ท่ามกลางโลกการศึกษาที่เผชิญกับความท้าทายรอบด้าน การเข้าสู่ยุคดิจิทัลและความปกติใหม่หลังการแพร่ระบาดโควิด 19 เทคโนโลยีการศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ยุคใหม่และช่วยลดช่องว่างการเรียนรู้ อาทิ Workplace Education ปรับหลักสูตรการสอนให้สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง เน้น soft skill ในการใช้ชีวิตและทำงาน เรียนรู้ผ่านโครงการการทำงานร่วมกัน, Nano Learning เรียนรู้ขนาดพอดีคำ แบ่งวิชายากออกเป็นส่วนป้อนข้อมูลทีละเล็กน้อยความยาวประมาณ 2-10 นาที, Gamificaton นำเกมเข้ามาเป็นส่วนประกอบการเรียนรู้เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและเกิดการแข่งขัน, Big Data วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอย่างแม่นยำ และสร้างโปรแกรมการเรียนรู้เฉพาะบุคคล และ Subscription-based สมัครสมาชิกแพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงทรัพยากรการศึกษาคุณภาพสูงในรูปแบบที่มีความยืดหยุ่น สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาตามความสะดวกของแต่ละคน

อีกทั้งงานในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก งานบางประเภทจะมีความต้องการลดลงและถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็มีงานที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น ซึ่งงานที่เกิดขึ้นใหม่เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและทักษะมนุษย์ จากที่กล่าวมาข้างต้นบทบาทภารกิจการทำงานที่สำคัญของ ศธภ./ศธจ. เปลี่ยนไป การบริหารงานบุคคลถูกโอนกลับไปให้ คณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา งานของ ศธภ./ศธจ.ต้องเน้นเชิงวิชาการ โดยต้องเป็นโซ่ข้อกลางเชื่อมโยงงานการศึกษาระหว่าง ศธ.กับจังหวัด รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการจัดการศึกษา ผลักดันแนวนโยบายให้ไปสู่การปฏิบัติ จะต้องเป็นหน่วยงานหลักที่บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง วางรากฐานที่จะเชื่อมโยงพัฒนาการศึกษาของพื้นที่ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของกระทรวงศึกษาธิการ สร้างหลักประกันการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และสนับสนุนโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตสอดคล้องกับ ภารกิจของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)

“การขับเคลื่อนดำเนินงานในระยะต่อไป สป.ศธ.จำเป็นต้องมีการทบทวน ปรับปรุง ออกแบบแผนการดำเนินงาน กลไก เทคนิค รูปแบบการบริหารจัดการศึกษา รวมทั้งจัดทำชุดโครงการสำคัญ การประเมินผลการปฏิบัติงาน และตัวชี้วัดในแต่ละพันธกิจ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด มุ่งเน้นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังระดับพื้นที่ ให้สามารถบริหารจัดการเกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน การจัดการศึกษาตามบริบทของพื้นที่นั้น ๆ ให้มากยิ่งขึ้น” ปลัด ศธ. กล่าว

 

 

อานนท์ วิชานนท์ / ข่าว
ณัฐพล สุกไทย / ภาพ
สมประสงค์ ชาหารเวียง / Facebook Live