ศปบ.จชต.ร่วมกับ ผู้แทนพิเศษรัฐบาลลงพื้นที่ติดตามการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน 2563 ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา
ในระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา หน่วยงานการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย ได้รายงานการแผนการดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนตามมาตรการที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด ในการลงพื้นที่ติดตามผลการขับเคลื่อนโครงการ / กิจกรรมในหน่วยงานทางการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามนโยบายพิเศษของรัฐบาล และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ประเด็นการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอน ก่อนเปิดเรียน ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2563 ของศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนพิเศษของรัฐบาล โดยมี ดร.วาทิต มีสนุ่น ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ด้านการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ นายชลำ อรรถธรรม ที่ปรึกษาผู้แทนพิเศษของรัฐบาล คณะทำงานฝ่ายอำนวยการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ลงพื้นที่ร่วมรับฟังแนวทางดำเนินการมาตรการการรับนักเรียน และการเปิดภาคเรียนในสถานการณ์การเฝ้าระวังโควิด-19 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเปิดเรียน พร้อมหารือแนวทางการแก้ไขในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้
ทั้งนี้ ผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่เขตรับผิดชอบได้ร่วมรายงานแผนการดำเนินการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาในพื้นที่ ซึ่งสถานศึกษาสามารถรองรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการได้ทั้งหมด และสำหรับโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูง ทางหน่วยงานการศึกษา จะดำเนินการสอบคัดเลือก ในวันที่ 6-7 มิถุนายนนี้ ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 อย่าเคร่งครัด รวมทั้งจัดแผนสำรองซึ่งมีศูนย์ประสานงานการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่ในการให้ความช่วยเหลือจัดสรรที่เรียนให้นักเรียนที่ยังไม่มีสถานศึกษารองรับ หรือพลาดโอกาสจากการสอบคัดเลือก เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าเรียนในสถานศึกษาได้ครบถ้วนทุกคน ด้านการเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนได้มีการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของนักเรียนโดยให้ผู้ปกครองกรอกแบบสอบถามต่อความเชื่อมั่นในการส่งบุตรหลานมาที่โรงเรียน และได้วางมาตรการการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ On-Site ให้อยู่ภายใต้แนวปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข หากผู้ปกครองยังมีความกังวลใจด้านความปลอดภัยของการจัดการเรียนการสอนรูปแบบ On-Site หน่วยงานการศึกษาในพื้นที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองสามารถเลือกรูปแบบการเรียน Online หรือ On-Air ตามความเหมาะสมได้ และจะมีการติดตามผลการสอนในสองรูปแบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ครบถ้วนตามหลักสูตรทุกคน