ผลการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เดือนกุมภาพันธ์ 2564

(9 กุมภาพันธ์ 2564) นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ครั้งที่ 2/2564 ณ ห้องประชุมจันทรเกษม อาคารราชวัลลภ


1. ทุกอังคารที่สองของเดือน จะมีการประชุมผู้บริหาร สป.ศธ.

ปลัด ศธ. กล่าวว่า ทุกวันอังคารที่สองของเดือน จะเป็นการประชุมผู้บริหาร สป.ศธ. โดยมีผู้บริหารเข้าร่วม คือ รองปลัด ศธ., ผู้ตรวจราชการกระทรวง, ผู้ช่วยปลัด ศธ., เลขาธิการ กศน., เลขาธิการ ก.ค.ศ., เลขาธิการ กช. โดยประชุมทางไกลผ่านโปรแกรม Zoom ร่วมกับศึกษาธิการภาค/ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อหารืองานที่เกี่ยวข้อง และสร้างความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน

 

2. ความก้าวหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทย

สำหรับการประชุมในเดือนนี้ ปลัด ศธ.ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ความก้าวหน้าการวางแผนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับประชาชน เริ่มจากลอตแรก เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 2 ล้านโดส โดยกลุ่มแรกจะเน้นในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยง และกิจกรรมเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว จากนั้นจะทยอยฉีดวัคซีนต่อเนื่องไปจนถึงเดือนธันวาคม 2564

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขย้ำมาเสมอว่า วัคซีนที่ดีที่สุด คือ การสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่เข้าไปในสถานที่เสี่ยง/สถานที่แออัด

 

3. ความก้าวหน้าและอุปสรรคของการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน

ปลัด ศธ.กล่าวว่า หลักการของการยกระดับโรงเรียนคุณภาพของชุมชนของแต่ละจังหวัด มีส่วนสำคัญ 3 ด้าน คือ การคัดเลือกโรงเรียนต้องมีพื้นที่ 14 ไร่ขึ้นไป เพื่อให้เพียงพอต่อการขยายตัวและสร้างอาคารเรียน ตั้งอยู่บนถนนหลักที่สามารถใช้บริการรถรับ-ส่งนักเรียนได้อย่างสะดวก และเป้าหมายอาคารเรียนต้องมีไม่น้อยกว่า 30 ห้อง ๆ ละ 35 คน ซึ่งจะทำให้โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง มีจำนวนนักเรียนประมาณหนึ่งพันคน และไม่ควรเกินสามพันคน โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณปี 2565

ที่ประชุมได้รับทราบ ความก้าวหน้าและอุปสรรคของการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โดยผู้รับผิดชอบการดำเนินการในแต่ละจังหวัด (ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ ที่ สพฐ.11/2564 เรื่อง การบูรณาการด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ) ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบจากการลงพื้นที่ 
นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการ กช. รับผิดชอบจังหวัดกระบี่ “มีการเปลี่ยนแปลงการคัดเลือกโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายข้างต้นของ ศธ. ที่ต้องการสร้างโรงเรียนดี ๆ มีคุณภาพกระจายในภูมิภาค ไม่ต้องแย่งกันเข้ามาเรียนในโรงเรียนชั้นนำที่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ และการกำหนดเป้าหมายของโรงเรียน ไม่ควรพิจารณาเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดตนเองเท่านั้น ต้องคำนึงถึงพื้นที่ตั้งของโรงเรียนในจังหวัดใกล้เคียงกันด้วย”

น.ส.เจริญวรรณ หนูนาค รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. รับผิดชอบจังหวัดสมุทรสาคร “จากการลงพื้นที่ ปัญหาที่พบ คือ โรงเรียนประถมศึกษาบางแห่งยังไม่ทราบเป้าหมายที่ชัดเจนของโครงการ ที่ต้องเอาโรงเรียนเครือข่ายมาเรียนรวมเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการเลือกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ หากไม่ตรงกับเป้าหมาย ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ก่อนการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ”

ว่าที่ ร.อ.วิสาร ปัญญชุณห์ รักษาการที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการศึกษา สป. รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดตราด “ได้ลงพื้นที่ติดตามโรงเรียนขนาดเล็กที่ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง (Stand Alone) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้อาชีพในเกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด และสิ่งที่ย้ำถึงความสำเร็จของการบริหารจัดการสถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จ มีคุณภาพ คือ ผู้บริหารสถานศึกษาต้องอยู่เพื่อพัฒนาต่อเนื่อง 4-5 ปี”

นายสุทิน แก้วพนา รองปลัด ศธ.รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดลำปาง “การลงพื้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องระบบฐานข้อมูล และนำ School Mapping ของทั้งจังหวัดมาดู เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลในการพิกัดจุดตั้งของโรงเรียน การเชื่อมต่อ ที่จะช่วยให้เด็กในพื้นที่ทุกคน แม้ในพื้นที่ห่างไกล ได้มีที่เรียนอย่างมีคุณภาพมากที่สุดทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งใช้เป็นประโยชน์ในการจำแนกข้อมูลผู้เรียนได้ชัดเจนทุกระดับการศึกษา ทั้งอนุบาล-ประถม-มัธยม รวมทั้งโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาที่อาจต้องไปรวมกับโรงเรียนคุณภาพของชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง อีกเรื่องที่จังหวัดควรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ ต้องวางแผนจัดทำ Master Plan การพัฒนาโรงเรียนในปัจจุบันและอนาคตให้ชัดเจน ทำให้ดีที่สุด เพราะมีผลต่อความสำเร็จ เมื่อโรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแล้ว จะได้สง่างาม จูงใจให้นักเรียนเข้ามาเรียน”

นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รักษาการศึกษาธิการภาค 10 รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก “ยืนยันจากการลงพื้นที่ พบว่าการทำงานบูรณาการในระดับพื้นที่ ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 4 เขต ร่วมมือกับจังหวัดดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือของชุมชน มีผลต่อความสำเร็จของการเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน

 

4. สป.วางแผนลงพื้นที่โครงการ กระทรวงศึกษาธิการสัญจร

นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ วางแผนโครงการ “กระทรวงศึกษาธิการสัญจร” เพื่อลงพื้นที่ระดับภาค ไปติดตามสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำนโยบาย ศธ.ไปสู่การปฏิบัติในเชิงพื้นที่ รวมทั้งรับฟังสภาพปัญหา ระดมความคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งจะช่วยแชร์ประสบการณ์ข้อมูลร่วมกันของส่วนกลาง และส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค เช่น ศึกษาธิการภาค/จังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนโรงเรียนของคุณภาพของชุมชน และโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง สอดคล้องต่อการขับเคลื่อนนโยบายของ ศธ. อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 


ที่มา : ศธ.360