สรุปมติคณะรัฐมนตรี (18 กรกฎาคม 2566) ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ คือ เห็นชอบกำหนดเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้พลังงานลง 20% เห็นชอบบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ
เห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามมาตรการลดการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง
โดยกำหนดเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 20 (รวมไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง) เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก รวมถึงสงครามสหพันธรัฐรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ส่งผลให้ราคาพลังงานยังคงมีความผันผวนและทำให้ราคาค่าไฟฟ้าภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนทั่วประเทศในปี 2566 ทำให้ประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จึงเห็นควรให้หน่วยงานราชการดำเนินการตามมาตรการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ร้อยละ 20 อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและให้หน่วยงานราชการเป็นตัวอย่างให้แก่ภาคประชาชนในการลดการใช้พลังงาน ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) เรื่อง มาตรการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ
โดยให้ทุกส่วนราชการรายงานผลการดำเนินการในเว็บไซต์ www.e-report.energy.go.th เป็นประจำทุกเดือน แล้วให้กระทรวงพลังงาน (พน.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานของหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมเสนอนายกรัฐมนตรี โดยปรับรอบการรายงานผลการดำเนินการจากเดิม รายไตรมาส เป็นประจำทุก 6 เดือน
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่า ไม่ควรกำหนดเป็นตัวชี้วัดของส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ เนื่องจากไม่ต้องการสร้างภาระให้กับส่วนราชการเกินควร ประกอบกับ พน. สามารถใช้กลไกของมติคณะรัฐมนตรี (22 มีนาคม 2565) เรื่อง มาตรการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ โดยให้ส่วนราชการดำเนินการตามมาตรการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ และรายงานผลผ่านระบบการรายงานผลทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเพื่อติดตามการดำเนินงานและรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างต่อเนื่อง
อนุมัติบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในอัตราไม่เกิน 13,116 อัตรา โดยแบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ดังนี้
ประเภท | จำนวนผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดที่ได้รับบำเหน็จความชอบ | ||
อัตราทั้งหมด | ร้อยละที่ได้รับบำเหน็จ | อัตราที่ได้รับบำเหน็จ | |
เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง | 368,208 | ไม่เกิน 2.5 | ไม่เกิน 9,205 |
เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด | 260,719 | ไม่เกิน 1.5 | ไม่เกิน 3,911 |
รวม (อัตรา) | 628,927 | – | ไม่เกิน 13,116 |
ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้มีการพิจารณาบำเหน็จความชอบกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นอัตราร้อยละ 1 ของฐานในการคำนวณในแต่ละรอบการประเมิน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการเลื่อนเงินเดือนกรณีปกติ จะต้องไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณ) ในอัตราไม่เกิน 13,116 อัตรา
โดยแบ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรง ไม่เกิน 9,205 อัตรา (ร้อยละ 2.5 จากจำนวนผู้ปฏิบัติงานด้านยาเสพติดโดยตรงทั้งหมด) และผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่เกิน 3,911 อัตรา (ร้อยละ 1.5 จากจำนวนผู้ปฏิบัติงานเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดทั้งหมด)
ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2566 – 2570 (ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566)
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ/เห็นด้วยตามที่ ยธ. เสนอ
รับทราบสรุปผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการดำเนินการคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ตามที่คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยเสนอ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการจัดมหกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงกลไกการไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ได้อย่างทั่วถึง
ในส่วนของ ศธ. ได้ดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินในระยะต่อไป การแก้ไขหนี้สินข้าราชการ เน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการ การสร้างระบบสินเชื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ข้าราชการ และขยายกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ครอบคลุมข้าราชการในวงกว้าง ของ ศธ. ดังนี้
- เร่งนำแนวทางการใช้กลไกสหกรณ์ต้นแบบ เพื่อขยายผลให้ครอบคลุมสหกรณ์อื่น ๆ ทั่วทั้งประเทศ และจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูที่ถูกฟ้องดำเนินคดี
- เร่งกำกับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งยังไม่ได้ปฏิบัติตามตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการหักเงินเดือนและบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว เพื่อให้ข้าราชการครูมีรายได้คงเหลือสุทธิเพียงพอต่อการดำรงชีพ
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน