
ผู้ช่วยปลัด ศธ. ‘สมใจ วิเศษทักษิณ’ เสวนาร่วมกับผู้ว่าฯ ลำปาง ชี้หน่วยงานการศึกษาต้องวางแผนร่วมกับจังหวัด สร้างคนตามความต้องการอุตสาหกรรมท้องถิ่น ลดการย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่
จังหวัดลำปาง 7 กุมภาพันธ์ 2566 / ศธ.จัดเสวนา หัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาการศึกษาสู่การพัฒนาจังหวัดที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” โดยนายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในโครงการส่งเสริมและพัฒนากลไกการบริหารและการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ของกระทรวงศึกษาธิการ พื้นที่ภาคเหนือ ณ ห้องประชุมเวียงแก้ว โรงแรมลำปางเวียงทอง (รับชมภาพการเสวนา)

นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า การวางแผนการศึกษาของจังหวัดลำปาง จะต้องดูบริบทของคนที่อยู่ในพื้นที่และศักยภาพจังหวัดเป็นหลัก ซึ่งจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดขนาดกลาง แต่มีงานที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนทั้งในลำปางเองและจังหวัดใกล้เคียงกว่า 50,000 คน ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์และโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว การทำข้าวแต๋น การทำเครื่องเซรามิก เป็นต้น
เมื่อคิดรวมกันแล้วมีมูลค่าหลายพันล้านบาท ขณะที่ยุทธศาสตร์ของจังหวัดลำปางก็เป็นจังหวัดศูนย์กลางของการภาคเหนือตอนบน มีนักลงทุนเข้ามามากมาย นักเรียนนักศึกษาก็มีคุณภาพไม่ได้ด้อยกว่าจังหวัดอื่น เห็นได้จากผลงานเด็กนักเรียนที่เป็นแชมป์หุ่นยนต์โลกจากการแข่งขันที่ประเทศเยอรมนี เป็นต้น
ดังนั้น ไม่ใช่ว่าคนลำปางไม่มีความสามารถหรือความรู้ เพียงแต่ว่ายังขาดโอกาสและทิศทางในเรื่องของการศึกษาอยู่ จึงต้องการให้นำเทคโนโลยีเข้ามายังจังหวัดลำปางให้มากขึ้น เนื่องจากระบบของ Wi-Fi อินเทอร์เน็ต ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงทั้งจังหวัด เป็นปัญหาอย่างหนึ่งในเรื่องของการปิดกั้นความรู้ โดยขณะนี้ทางจังหวัดก็ได้พยายามพูดคุยกับผู้บริหารบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) หรือบริษัทต่าง ๆ ที่ให้บริการอินเทอร์เน็ต ว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพพวกนี้ได้ไหม ทั้งนี้การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ขีดจำกัดอยู่เฉพาะในโรงเรียน แต่เราสามารถสร้างให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในโลกกว้างได้อย่างไร้ขีดจำกัด ช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้อยู่ในตัวอำเภอได้เข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน
ด้านสิ่งที่กังวลที่สุด คือการใช้สื่อออนไลน์ที่สามารถให้ทั้งคุณและโทษได้ ทำอย่างไรเราจะสามารถให้นักเรียนนักศึกษามีผู้นำพาหรือไกด์ เพื่อการเรียนรู้สิ่งที่ดีจากสื่อออนไลน์ แต่ปัญหาก็คือคุณครูที่ตอนนี้ยังเรียนเหมือนในอดีตอยู่ ทำอย่างไรจะช่วยพัฒนาคุณครูให้เป็นผู้ชี้แนะแนวทางให้กับเด็กได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบันและใช้สื่อไปในทางที่ถูกต้อง

นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า วันนี้เรามีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำอย่างไรประเทศไทยจะมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ หากมองในมิติของการจัดการศึกษา วันนี้พลังสำคัญไม่ใช่เฉพาะสถานศึกษาเท่านั้น แต่บุคคลที่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาในพื้นที่คือผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงเครือข่าย สถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ ที่จะต้องกลับมาช่วยออกแบบการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมามีการตำหนิว่าเราผลิตกำลังคนไม่ตรงกับตลาดแรงงาน เด็กไทยจบมาแล้วไม่มีสมรรถนะ
กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะหน่วยงานทางการศึกษาจะต้องมาร่วมกันวางแผนพัฒนาการศึกษาระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ ระดับเขต ถ้าทุกคนมองเห็นเป้าหมายตรงกัน จะไม่เสียเวลา ไม่เปลืองงบประมาณไม่เสียทรัพยากร ซึ่งการสื่อสารถือว่าเป็นกุญแจสำคัญ ผู้บริหารระดับเขตพื้นที่สื่อสารกับศึกษาธิการจังหวัดและสถานศึกษา วางแผนร่วมกันว่าควรจัดการศึกษาอย่างไรจึงจะตอบโจทย์ชีวิตนักเรียน ครอบครัว และชุมชน โดยที่เด็กไม่จำเป็นต้องเข้าไปในกรุงเทพฯ หรือไปขายแรงงานต่างถิ่น เราจะจัดการศึกษาอย่างไรให้เด็กอยู่ในท้องถิ่น อยู่กับโรงงานหรือสถานประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ผู้ช่วยปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายสำคัญที่ประเทศไทยต้องการ คือ ทำให้เด็กไทยมีกระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหาได้อย่างมีเหตุผล มีทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ คิดเชิงนวัตกรรม มีทักษะการสื่อสารอย่างมีวิจารณญาน รวมทั้งมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ประกอบกับความมีคุณธรรม หากสามารถทำสำเร็จจะเป็นการทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้กับประเทศไทยได้

ปารัชญ์ ไชยเวช/ สรุป
ณัฐพล สุกไทย/ ถ่ายภาพ